กรุงเทพฯ 7 เม.ย. – ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดราคาข้าวโพด-ยางพารา-มันสำปะหลัง-สุกร มีแนวโน้มสูงขึ้นในเดือนเมษายน หลังผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนเมษายน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.50 อยู่ที่ 8.08-8.16 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาบางส่วนได้รับความเสียหายจากภัยแล้งในช่วงการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการลดการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อใช้ในผลิตอาหารสัตว์
สำหรับยางพาราแผ่นดิบ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.38-7.48 อยู่ที่ราคา 43.49-46.57 บาท/กก. เนื่องจากเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ เกษตรกรหยุดกรีดยาง ประกอบกับภาวะอากาศที่แล้งส่งผลต่อปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.46 -3.70 อยู่ที่ราคา 2.17-2.25 บาท/กก. เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง แต่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาเพิ่มขึ้น และสุกร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.09–0.84 อยู่ที่ราคา 66.50–70.00 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับอากาศร้อนส่งผลให้สุกรเจริญเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง
ส่วนสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.46-1.85 อยู่ที่ราคา 7,423-7,526 บาท/ตัน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและผลผลิตข้าวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด ข้าวเปลือกหอมมะลิ ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.09-3.37 อยู่ที่ราคา 15,231-15,593 บาท/ตัน เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.93-4.35 อยู่ที่ราคา 9,985-10,322 บาท/ตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียว นาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50-1.00 อยู่ที่ราคา 12.60-12.67 เซนต์/ปอนด์ (8.81-8.86 บาท/กก.) เนื่องจากอินเดียส่งออกน้ำตาลดิบแก่อิหร่านเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ซึ่งเป็นการขายแก่อิหร่านเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะที่อิหร่านกำลังประสบปัญหาการจัดหาอาหารภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ประกอบกับรัฐบาลอินเดียมีแผนจะให้เงินกู้ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่โรงงานน้ำตาลและโรงงานน้ำตาลรีไฟน์ จึงเป็นแรงกระตุ้นการผลิตน้ำตาลของอินเดียและจะส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลโลกเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.93 – 2.33 อยู่ที่ราคา 2.10 – 2.13 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตน้ำมันปาล์มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการใช้คงที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินเป็นจำนวนมาก และกุ้งขาวแวนนาไม ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.33 – 6.67 อยู่ที่ราคา 140.00 – 145.00 บาท/กก. เนื่องจากคาดว่าปริมาณผลผลิตในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ราคากุ้งขาวแวนนาไมทั่วโลกปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลของอินเดียและเวียดนามเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณผลผลิต ทำให้ราคากุ้งขาวแวนนาไมไทยได้รับแรงกดดันและราคาปรับตัวลดลง.-สำนักข่าวไทย