รร.บียอนด์สวีท 4 เม.ย. – กฟน.เดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินถนนจรัญสนิทวงศ์ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ระยะทาง 11.4 ก.ม. งบลงทุน 2,200 ล้านบาท
นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานประชุมชี้แจงโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียนถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยมีผู้แทนจากองค์กร และหน่วยงานภาคธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังรายละเอียดแผนดำเนินงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง
นายราเชนทร์ พฤทธิพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กฟน. กล่าวว่า ตามที่ กฟน.มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุด กฟน.จะดำเนินโครงการบนถนนจรัญสนิทวงศ์ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 ถึงแยกท่าพระ รวมระยะทาง 11.4 กิโลเมตร มูลค่าสัญญาโครงการกว่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเสถียรภาพและความเชื่อถือของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจของหน่วยงานเอกชนในพื้นที่ในอนาคต รวมถึงช่วยเสริมสร้างทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยว ตลอดจนช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน พร้อมให้กรุงเทพมหานครเข้าสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ยกระดับการก่อสร้างทุกจุดตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งขั้นตอน วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานป้องกันอุบัติเหตุ ให้งานก่อสร้างมีความเรียบร้อยปลอดภัย แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.งานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าด้วยวิธีขุดเปิดบนทางเท้า (Open Cut) 2. งานก่อสร้างท่อด้วยวิธี HDD (Horizontal Directional Drilling) และ 3.งานก่อสร้างด้วยวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) โดย กฟน.จะดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00 ถึง 05.00 น. ของวันถัดไป เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อการจราจร
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ กฟน.จะชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ แผนงานก่อสร้างด้านโยธา และระบบไฟฟ้า รวมถึงการจัดการจราจรในบริเวณก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น พร้อมให้ข้อมูลสำคัญนำมาพิจารณาปรับปรุงแผนงานให้มีความเหมาะสม และส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง กฟน.ได้บูรณาการความร่วมมือกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อร่วมกันก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้า และการวางระบบรถไฟฟ้าในคราวเดียวกันเพื่อลดผลกระทบด้านการก่อสร้าง ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ประหยัดงบประมาณ และทำให้โครงการสำเร็จได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย