สมาคมนักข่าวฯ 14 มี.ค.-นักการเมืองหลายพรรคเสนอนโยบายให้สื่อดูแลกำกับและตรวจสอบกันเอง เชื่อหลังเลือกตั้ง สถานการณ์สื่อดีขึ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา “รับฟังนโยบายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน” โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า สถานการณ์สื่อตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์แบ่งสีเสื้อ ซึ่งทำให้เห็นสื่อที่แสดงตัวตนชัดเจน บางส่วนก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในเชิงที่ลึกขึ้น แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดการตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่มีการตรวจสอบกันมากขึ้น อีกทั้งการตรวจสอบยังใช้เวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่โลกของสื่อมวลชนเปิดกว้างมากขึ้น แต่บางส่วนยังถูกปิดไปด้วยคำสั่งของคณะรัฐประหาร
ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เพื่อสังคม ปัญหาของสื่อมวลชนในขณะนี้ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงและการรับรู้ของคนในสังคมที่ไม่รับรู้ข่าวสารจากสื่อเดิม ๆ อีกต่อไป ทำให้เกิดคนที่จะเป็นสื่อได้ง่ายขึ้น ประชาชนทั่วไปกลายเป็นนักข่าวและเป็นผู้ส่งสารได้ง่ายกว่าเดิม แต่โจทย์ใหญ่ คือ เรารู้ทันข่าวสารหรือไม่ เพราะสื่อในปัจจุบัน มีทั้งการเผยแพร่ภาพโป๊ คำหยาบคาย การบิดเบือนข้อเท็จจริงเกิดขึ้นในสังคม แต่เชื่อว่าหลังจากมีรัฐบาลแล้วคงสามารถพูดถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อได้ชัดเจนมากขึ้น ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่แทรกแซงสื่อมวลชนและไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็จะไม่ใช่คนกำกับสื่อ แต่จะเป็นผู้ให้การสนับสนุน เพื่อให้ทุกวิชาชีพเติบโตได้ด้วยตนเองและสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้
ด้านนายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เมื่อมองภาพการเมืองหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าทุกคนเห็นตรงกันว่ารัฐบาลใหม่อยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นสิ่งใดที่สื่อมองว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ก็ต้องกระตุ้นให้นักการเมืองตื่นตัวและผลักดันให้เป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนการกำกับดูแลกันเองนั้น สื่อมวลชนก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะสามารถกำกับดูแลกันเองได้หรือไม่ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบายเป็นภาพกว้างให้องค์กรที่อยากดูแลกันเองได้ให้สามารถดูแลกำกับกันเอง ยอมรับว่าพรรคชาติไทยพัฒนาคงไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่หากร่วมรัฐบาลและพรรคการเมืองใดจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน
น.ส.พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ มองว่าขณะนี้สื่อมวลชนต้องเผชิญกับความท้าทาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 2.เศรษฐกิจ 3.การเมือง 4.คำว่าจรรยาบรรณและจริยธรรม โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิตอล โซเชียลมีเดียกำลังเริ่มเบ่งบาน การมีเฟซบุ๊คไลฟ์เปลี่ยนโฉมหน้าของสื่อ ทำให้ทุกคนเป็นสื่อและสามารถรายงานสดได้ทันที อีกทั้งยังให้คนสามารถคอมเม้นต์สื่อสารได้สองทาง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาธิปไตย การบริโภคของคนไทยมีทางเลือกมากขึ้น
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนความท้าทายด้านเศรษฐกิจนั้น จะเห็นได้ว่าการประมูลทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นใกล้กับช่วงที่มีการรัฐประหาร จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล แทบไม่มีทีวีช่องใดที่มีกำไร เห็นการเลย์ออฟและการเออร์รี่ ในขณะที่สภาพการเมืองก็ไม่ปกติ เกิดการแข่งขันเรียกเรทติ้ง ขณะเดียวกันทำให้ผู้สื่อข่าวท้อแท้ เพราะไม่สามารถทำข่าวที่มีคุณภาพได้ในเวลาที่จำกัด
น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความท้าทายทางด้านการเมือง พบว่าสถิติตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีการลงดาบสื่อไปแล้ว 59 ครั้ง โดยอาศัยหลักเกณฑ์คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือปิดปากสื่อและไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ สื่อไม่ทราบว่าสิ่งใดจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง สื่อยอมละทิ้งหน้าที่ของตัวเองเพื่อป้องกันปัญหาการถูกปิดช่องแล้วทำให้สูญเสียเงินมหาศาล นี่จึงเป็นความเจ็บปวดที่สุดที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ และยังไม่มีทางออกจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนความท้าทายของคำว่าจรรยาบรรณและจริยธรรมอยู่ตรงไหน และทั้งสองคำ คือ คำ ๆเดียวกันหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรใช้คำว่าจรรยาบรรณของสื่อ คือสะท้อนว่าผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนจะต้องมีหน้าที่ทำอะไร ทำอย่างไร ภายใต้ขอบเขตใด ส่วนการตรวจสอบกันเองนั้น มองว่าสื่อไม่จำเป็นต้องตรวจสอบกันเอง แต่ให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบจะดีกว่า.-สำนักข่าวไทย