ก.แรงงาน 31 ส.ค.- คสรท. ยื่นหนังสือถึงปลัดแรงงาน เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ หลังพบเสนอขึ้นค่าจ้างเข้าบอร์ดเพียง 13 จังหวัด
นายชาลี ลอยสูง รักษาการ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หลัง ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างให้ทุกจังหวัดสำรวจข้อมูลแต่ละพื้น ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพแรงงาน และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งมีเพียง13จังหวัด ได้แก่เพชรบูรณ์ สกลนคร อยุธยา อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส สระบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร ขอขึ้นค่าจ้างตั้งแต่ 4-60 บาท ขณะที่อีก 64 จังหวัดไม่ได้ขอขึ้น
นายชาลี กล่าวต่อว่า ในวันนี้ คสรท.จึงรวมตัวยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อคัดค้านการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายพื้นที่ และการขึ้นค่าจ้างต้องเท่ากันทั้งประเทศ เนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำรายพื้นที่จะทำให้เกิดความเลื่อมล้ำ การอพยพแรงงานจากจังหวัดค่าจ้างต่ำสู่จังหวัดค่าจ้างสูง ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และมติการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากอนกรรมการค่าจ้างไม่สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง เพราะบางจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงาน ก็ไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่แรงงานแต่ละจังหวัดต่างมีค่าครองชีพไม่แตกต่างกัน กินใช้เหมือนกัน และค่าจ้างคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด เพราะฉนั้น แนวคิดกระจายโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำ สร้างงานให้พื้นที่ที่ไม่มีโรงงานจึงใช้ไม่ได้ เนื่องจากจังหวัดที่มีค่าจ้างต่ำ อาจมีต้นทุนการผลิตอย่างอื่นสูงกว่า อย่าง การขนส่ง เป็นต้น และก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ แรงงานเอกชนก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ติดภารกิจ มอบหมายให้นายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้รับเรื่องแทน อย่างไรก็ตามขณะนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการกลั่นกรอง และจะมีประชุมบอร์ดกรรมการค่าจ้างอีกครั้งวันที่ 15 กันยายนนี้.-สำนักข่าวไทย