สปสช.14ก.พ.-สปสช.ประสานหน่วย 50(5) ศูนย์คุ้มครองสิทธิตามกฏหมายหลักประกันสุขภาพ ดูแล ‘น้องไอซ์ ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1’ เข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง เผยเหตุติดขัดเพราะยังไม่ย้ายหน่วยบริการ ทำใช้สิทธิบัตรทอง รพ.ในพื้นที่ไม่ได้ พร้อมระบุจับมือสมาคมโรคเบาหวานฯ พัฒนามาตรฐานอุดช่องว่าง ติดตามรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้ป่วยจะย้ายไปยังพื้นที่ใดจะมีการติดตามและส่งต่อเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ เริ่มปี 2562 นี้
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า จากกรณีน้องไอซ์ อายุ 7 ปี ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่1แต่ด้วยพ่อมีอาชีพเป็นคนงานก่อสร้าง ต้องย้ายที่อยู่อาศัยบ่อยครั้ง ทำให้ขาดการรักษาต่อเนื่องตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ซึ่งแม้ว่ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าถึงบริการแล้ว ทั้งในด้านการรักษาและการป้องกันเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและความรุนแรง แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีปัญหาเข้าไม่ถึงการบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งพบมากในเด็ก ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องด้วยการฉีดอินซูลิน ทำให้เกิดผลกระทบไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องดังเช่นกรณีของน้องไอซ์เป็นตัวอย่างหนึ่ง
ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตระหนักต่อปัญหานี้ จึงได้ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายผู้ป่วยในการร่วมพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาและพัฒนาทักษะการดูแลตนเองที่บ้าน เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต่อเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2562 นอกจากการจัดสรรงบค่าบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 1,063 ล้านบาทแล้ว ในงบประมาณจำนวนดังกล่าว ยังได้จัดสรรเพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เฉพาะ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวัดผลค่าน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตนเอง 4 ครั้ง/วัน ทำให้มีการควบคุมการฉีดอินซูลินและปรับพฤติกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย
“จากการจัดระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ได้เริ่มในปี 2562 นี้ ยังส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่1ได้รับการลงทะเบียนและเข้าสู่โปรแกรมรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นำมาสู่การติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสร้างเครือข่ายหน่วยบริการครอบคลุมทั้ง 13 เขต บริการสุขภาพ โดยมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ 38 แห่งเข้าร่วมเป็นแม่ข่าย ซึ่งจะส่งผลให้ไม่ว่าผู้ป่วยจะย้ายไปยังพื้นที่ใดจะมีการติดตามและส่งต่อเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีของน้องไอซ์ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี ได้ประสานไปยังหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50 (5) ในการเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิ เพื่อลงไปดูแลและช่วยแก้ปัญหาให้เข้าถึงสิทธิการรักษาแล้ว เบื้องต้นจากข้อมูลทราบว่าสาเหตุที่น้องไอซ์ไม่ได้รับการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่ได้ทำการย้ายสิทธิ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่หน่วยบริการในพื้นที่ได้ ซึ่งคงต้องมีการย้ายสิทธิบัตรทองน้องไอซ์มายังหน่วยบริการในพื้นที่
อย่างไรก็ตามตรงนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างช่องว่างของระบบ ซึ่ง สปสช.ได้พยายามพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่องแล้ว .-สำนักข่าวไทย