กระทรวงเกษตรฯ 31 ส.ค.–รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยเปิดแถลงข่าวทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลัง 2 บริษัทใหญ่ประกาศไม่รับซื้อยางเพราะคุณภาพยางต่ำจากการใช้กรดซัลฟิวริก
หลังจากบริษัทมิชลิน และบริดสโตน 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ระดับโลก ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และตัดสินใจระงับแผนก่อสร้างโรงงานมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังพบว่า กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่มีการใช้”กรดซัลฟิวริก”ใส่ในน้ำยาง เพื่อให้น้ำยางแข็งตัวเร็ว ส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพและอายุการใช้งานของยางล้อรถยนต์สั้นลง นอกจากนี้กรดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่ออายุต้นยาง จากเดิมที่มีอายุการกรีดนาน 30 ปี เหลือแค่ 15 ปี
ล่าสุดพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเรื่องการใช้กรดซัลฟิวริก มาระยะหนึ่งแล้วและทางการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงกับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ทางเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามเนื่องจากกรดซัลฟิวริก มีราคาถูกกว่ากรดฟอร์มิกที่มีคุณภาพดีกว่า จึงมอบหมายให้ กยท.เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรในภาคอีสานโดยด่วน
ขณะที่วันนี้ ทางผู้ว่าการกยท.ได้เข้าชี้แจงและหารือกับคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนแล้ว-สำนักข่าวไทย