กทม. 8 ก.พ.- เตรียมคลอดแล้ว กรมการขนส่งทางราง เล็งกำกับมาตรฐานปลอดภัย ระบบเดินรถรถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง
วันนี้คลุกข่าวเล่าประเด็น จะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับการจัดตั้ง หน่วยงานราชการหนึ่ง ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญ ต่อระบบการเดินทางขนส่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วประเทศไทย นั้นคือกรมการขนส่งทางราง กรมการขนส่งทางรางในปัจจุบัน โดยการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันดำเนินการมาหลายปี และสามารถบรรลุผลสำเร็จ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3 วาระ ขณะนี้รอขั้นตอน ที่จะมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า จะมีประกาศออกมาในเร็วๆ นี้
ซึ่งเบื้องต้นกฎหมายการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางจะมี 2 ส่วน คือที่กำลังจะประกาศใช้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง ฝ่ายบริหาร ของกรมขนส่งทางราง และในอนาคต ก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การกำกับดูแลออกมา
ส่วนความสำคัญของกรมการขนส่งทางราง เป็นอย่างไร นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมบอกว่า ไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก เพราะในอนาคต เราจะมีการขนส่งทางหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ และเรื่องระบบความปลอดภัย จะถือเป็นหัวใจสำคัญ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บอกด้วยว่า กรมการขนส่งทางราง จะเป็นมิติใหม่ของระบบคมนาคมไทย ที่จะมีหน่วยงานด้านกำกับดูแล (Regulator) ครบทั้ง 4 โหมด จากที่ก่อนหน้านี้ มีกรมเจ้าท่า กำกับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ, กรมการขนส่งทางบก กำกับมาตรฐานทางบก และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่เพิ่งแยกออกมาล่าสุด หลังประเทศไทยถูกธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คอยกำกับดูแลงานขนส่งทางอากาศ
ในส่วนของระบบรางนั้น กรมการขนส่งทางราง จะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ทั้งการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ การออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งคนขับรถไฟ ขับรถไฟฟ้า การขึ้นทะเบียนขบวนรถไฟฟ้า ควบคุมการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ระบบขนส่งทางรางตจะมีความสมบูรณ์ มีมาตรฐาน และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ ที่สำคัญมีระบบรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้เทคโนโลยีสูง การดำนินงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานโลก
ก่อนหน้านี้ นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย บอกว่า การรถไฟจะปรับตัว เพื่อการทำงานรองรับระบบรถไฟรูปแบบใหม่ ที่จะทยอยเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่กำลังเตรียมเปิดให้บริการต้นปี 2564 รถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งปี 2566 จะมีโครงการเสร็จรวม 11 โครงการ ระยะทางกว่า 1,681 กิโลเมตร รวมถึงรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างขับเคลื่อนในปัจจุบัน โดยปี 2572 จะมีรถไฟความเร็วสูงเสร็จรวม 5 โครงการ ระยะทาง 1,274 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง เส้นทางอู่ตะเภา-ระยอง, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, นครราชสีมา-หนองคาย, กรุงเทพฯ-หัวหิน และพิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงินลงทุนรวม 232,411 ล้านบาท ดังนั้น จำเป็นต้องมีการเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ และวางมาตรการการกำกับดูแลมาตรฐานเดินรถอย่างชัดเจน.-สำนักข่าวไทย