นิวยอร์ก 29 ม.ค.- ผลการศึกษาใหม่ชี้ว่า เหตุผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ หรือประมงลดลงอย่างกระทันหันเพราะสภาพอากาศเลวร้ายบวกกับปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือที่เรียกว่า ฟู้ดช็อก เกิดถี่ขึ้นในช่วงปี 2504 ถึง 2556 และเพิ่มขึ้นทุกทศวรรษตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
รายงานของมหาวิทยาลัยแทสเมเนียของออสเตรเลียที่เผยแพร่ในนิตยสาร Nature Sustainability ระบุว่า ผลการศึกษาฟู้ดช็อก 226 ครั้งใน 134 ประเทศทั่วโลกตลอด 53 ปีพบว่า เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติในอนาคต เพราะสภาพอากาศเลวร้ายมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศมีปัญหาเรื่องหาอาหารเลี้ยงปากท้องประชาชนที่ตกอยู่ท่ามกลางสงครามและการสู้รบ เสี่ยงมีผู้คนหิวโหยมากขึ้น ขณะที่อีกหลายประเทศต้องพึ่งพาอาหารนำเข้าเพราะไม่สามารถผลิตได้เอง หนึ่งในสี่ของอาหารที่เลี้ยงคนทั่วโลกได้จากการซื้อขาย หากเกิดฟู้ดช็อก ประเทศเหล่านี้จะเสี่ยงอันตรายมากที่สุด
รายงานเตือนว่า ฟู้ดช็อกมีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นจนไม่มีเวลาฟื้นตัวและเตรียมตัวรับมือ ประเทศที่พึ่งพาอาหารนำเข้าจึงต้องหาทางเก็บตุนอาหารให้พอ เพราะประเทศส่งออกเกิดฟู้ดช็อกได้ทุกเมื่อ ขณะเดียวกันแต่ละประเทศต้องลงทุนให้พร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศ เช่น ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่มีความหลากหลาย ปรับปรุงคุณภาพดินให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังเกิดน้ำท่วมหรือภาวะแห้งแล้ง ถึงเวลาที่ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหารให้ยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับฟู้ดช็อก แต่ประเทศผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่ยังคงไม่เคลื่อนไหวใด ๆ จนถึงขณะนี้.- สำนักข่าวไทย