กทม.28 ม.ค.-รมช.ศึกษาฯชี้อุดมศึกษาต้องปรับหลักสูตร-การเรียนการสอน เพื่อคุณภาพเเละตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 หลังพบ ม.เอกชนปิดตัวจำนวนมาก เชื่อหากการศึกษาดี ไทยจะก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางได้ แต่ปัจจุบันค่าจีดีพีวัดจากเงินเดือนยังไม่ถึงครึ่ง
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านการประกันคุณภาพการศึกษาครั้งที่ 1(Thailand Quality Education Forum 2019) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับชาติระหว่างบุคลากรด้านการประกันคุณภาพในสถาบัน อุดมศึกษาไทยเพื่อขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติเเละสร้างเครือข่ายของนักประกันคุณภาพเเละนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปีเเห่งวันพระราชทานนามเเละ 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดลในวันที่ 2 มีนาคมนี้ โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเเละบุคลากรด้านการประกันคุณภาพในสถาบัน อุดมศึกษาเข้าร่วมกว่า 400 คน
รมช.ศึกษาฯ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง ฝ่าวิกฤตอุดมศึกษาไทยด้วยคุณภาพว่า ประเทศไทยเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นคนในประเทศ ก็ต้องเป็นคนไทย 4.0 ด้วย มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลัก 2 หน้าที่ คือให้การศึกษาเพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพและการวิจัยเเละพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันประเทศมีกำลังคนที่เก่งด้าน 4.0 หรือทักษะที่จำเป็นจำนวนไม่มากพอ สถาบันอุดมศึกษาซึ่งถือเป็นหัวรถจักรด้านการศึกษา ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเเละศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ต้องปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์
ขณะนี้มหาวิทยาลัยเอกชนมีบางส่วนเริ่มทยอยปิดตัวลงเพราะไม่มีผู้เรียน จึงควรปรับปรุงหลักสูตรเเละการเรียนการสอน เป้าหมายใหม่ของการเรียนรู้ไม่ใช่เเค่เข้าไปเป็นแรงงานเเต่ต้องเป็นผู้ประกอบการ สร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ครู หน้าที่สถาบันการศึกษา ต้องใช้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์เเละดึงศักยภาพของเด็กออกมา โดยคุณภาพการเรียนรู้ในยุค4.0 ต้องเน้นการวิจัย การพัฒนาวิชาชีพหรือสมรรถนะเเละการฝึกอบรมหรือทักษะ เน้นการพัฒนาอาชีพยึดตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ จากเดิมยึดหลักสูตรเเละมห้ครูสำคัญ เน้นเติมเต็มสิ่งที่ขาดทั้งความรู้เเละทักษะจำเป็น การเรียนต้องตอบโจทย์บุคคล ไม่ใช่เเค่เรียนให้ครบตามหลักสูตร เรียนรู้เพื่อสร้างประสบการณ์ เน้นเรียนรู้นอกห้องเรียนนอกระบบ เน้นทุกช่วงอายุ มหาวิทยาลัยไม่ใช่เเค่สำหรับการเรียนต่อของเด็กมัธยมศึกษาเท่านั้น สถานศึกษาต้องเป็นเเหล่งเรียนรู้ แหล่งรวมจินตนาการสร้างนวัตกรรมสำหรับคนทุกช่วงวัย เเละเน้นหลักสูตรที่ไม่มีประกาศนียบัตรเเละปริญญา เพราะปัจจุบันสถานประกอบการต้องการคนที่มีทักษะมากกว่าจะประเมินเเค่ใบปริญญา ครูต้องเปลี่ยนบทบาทในการสอนต้องเป็นโค้ชดูเเลการเรียนของเด็ก
ส่วนเรื่องคุณภาพการศึกษาคำสอนของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า ความสำเร็จที่เเท้จริงของการเรียนรู้คือต้องนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยถูกคาดหวังว่าจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เเละเป็น Global Professional คือต้องรู้ลึกในศาสตร์หรืออาชีพของตนเอง มีความรู้กว้าง สร้างองค์ความรู้ใหม่เเละนวัตกรรมเพราะนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นเป้าหมายใหม่ของคุณภาพการศึกษาคือการสร้างนวัตกรรม การประกันคุณภาพจึงต้องเกิดขึ้น เพื่อให้การศึกษามีมาตรฐาน มีความเหมาะสมเเละสร้างความพึงพอใจกับผู้ใช้งานจากตัวบุคคลหรือนักศึกษาเพื่อจะได้นำพาประเทศก้าวข้ามประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการจะก้าวพ้นไปได้ค่าจีดีพีของคนในประเทศคือต้องมีเงินเดือน 32,000 บาทแต่ประเทศไทยยังไม่ถึงครึ่ง
รมช.ศึกษาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤติที่มหาวิทยาลัยพบในปีนี้ คือจำนวนนักเรียนใหม่เข้าเรียนลดลง ในภาพรวมร้อยละ10-15 ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งแบ่งเป็น2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ มหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ นักศึกษาลดลงร้อยละ20-30 กลุ่มที่2 คือมหาวิทยาลัยเอชกนขนาดเล็กลดลงร้อยละ 50-70 ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่าจะอยู่ได้อย่างไร ที่ผ่านมามีอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งมาพบเพื่อหารือกับตนว่า รัฐบาลจะมีทางใดที่จะช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กเหล่านี้ได้บ้าง ซึ่งตนให้คำตอบว่าคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนจะรอดได้ ต้องมีคุณภาพ โดยมหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาคณะที่เป็นจุดแข็งของตนเอง 1-2 คณะเท่านั้น และทำให้มีคุณภาพสูง ส่วนคณะที่เหลือก็คงต้องปิดตัวไป เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่จะเก่งทุกคณะ ทั้งหาความร่วมมือระหว่างคณะและมหาวิทยาลัย ที่นำทรัพยากรทั้งอาจารย์ อุปกรณ์ ของมหาวิทยาลัยมาช่วยกันยกระดับคุณภาพ ไม่เช่นนั้นจะอยู๋ไม่ได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ทำอยู่ก็คือหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่รัฐบาลเห็นแล้วว่าน่าจะเป็นคำตอบในการพัฒนาประเทศรัฐถึงจะกล้าลงทุนสนับสนุนงบประมาณ .-สำนักข่าวไทย