ทำเนียบฯ 2 ก.ย.- ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่มศักยภาพของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ให้ตรวจสอบองค์กรมหาชนและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง พร้อมเพิ่มอำนาจให้ตรวจสอบเปรียบเทียบผลการดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัดได้
พล.อ.ชาติอุดม ติตถะสิริ กรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ พร้อมด้วย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และนายมานะ นิมิตร มงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 โดย พล.อ.ชาติอุดม กล่าวว่า ในที่ประชุมได้ติดตามงานที่ได้สั่งการไว้แล้ว รวมทั้งการนำเสนอเรื่องการเพิ่มมาตรการต่อต้านการทุจริตในระดับกระทรวง รวมทั้งการสร้างการรับรู้และการประชาสัมพันธ์เรื่องการต่อต้านการทุจริตผ่านสื่อโทรทัศน์ให้เข้าถึงประชาชน
ด้านนายประยงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการเพิ่มศักยภาพของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) โดยหลังจากนี้ ศปท.จะเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับกระทรวง ซึ่งแต่เดิม ศปท.มีอำนาจในการประสานงานติดตามในกรมต่าง ๆ สังกัดกระทรวง แต่ไม่รวมถึงองค์กรมหาชนและรัฐวิสาหกิจที่อยู่สังกัดกระทรวง จึงได้เพิ่มอำนาจของ ศปท.ให้มีหน้าที่ติดตามประสานงานองค์กรมหาชนและรัฐวิสาหกิจด้วย อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจให้ ศปท.สามารถเข้าไปตรวจสอบ พร้อมเปรียบเทียบผลการดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด ในกรณีที่ ศปท.มีข้อสงสัยเรื่องการทุจริต ก็มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบว่าที่ต้นสังกัดดำเนินการนั้นถูกต้องหรือไม่ หาก ศปท.ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลตรวจสอบไม่ตรงกันกับต้นสังกัด ก็ต้องปรับแก้คำสั่งนั้น ซึ่งกระบวนการจะคล้ายกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2559 ให้อำนาจศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเปรียบเทียบผลการสอบสวนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหการค้ามมนุษย์
นายประยงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการทุจริตในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์การทุจริตเบาบางลง กลไกภาครัฐทำงานเข้มแข็งขึ้น ถือว่าประสบผลสำเร็จ โดยมีจุดเปลี่ยน คือ การกระตุ้นให้กลไกราชการทำงานอย่างมีธรรมาภิบาล เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเอกชนและประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริต จนสถานการณ์ดีขึ้น โดยหลังจากนี้ จะขับเคลื่อนงานธรรมาภิบาลภาครัฐให้เป็นรูปธรรม คือ ให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐปฏิบัติหน้าที่ในกรอบธรรมาภิบาล หากใครทำผิด ต้องดำเนินการทางวินัย หากการดำเนินงานของหน่วยงานใดส่อว่าทุจริต เมื่อเรื่องส่งมายัง ศปท.ของกระทรวง ศปท.จะส่งต่อไปยังต้นสังกัด เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไข โดยต้นสังกัดต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายประยงค์ กล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ ยังต้องขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่า คนโกงรายเก่าต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด รวมทั้งต้องไม่เปิดโอกาสให้โกง โดยขณะนี้ได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปหลายฉบับ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตเป็นไปโดยเร็ว และในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างกลไกเพิ่มเข้ามา เพื่อป้องกันการทุจริตใหม่ นอกจากนี้ ทุกส่วนราชการยังได้สร้างเครือข่ายร่วมเฝ้าระวัง หากพบเห็นการทุจริต ก็ร้องเรียนเข้ามาได้ สิ่งที่จะดำเนินการในเร็ว ๆ นี้ คือ ศอตช.จะร่วมกับสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ เสริมสร้างธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ และเสริมสร้างธรรมาภิบาลใน กทม.ด้วย
ขณะที่นายมานะ กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เตรียมจัดงานต่อต้านคอร์รัปชั่นประจำปีนี้ ในวันที่ 11 กันยายนนี้ทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิดกรรมสนองโกง พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวด้วยการเป็นพลังพลเมืองตื่นรู้ต่อต้านการโกง ร่วมเปิดไฟไล่โกงแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “มาตรการจัดการการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม” ที่ท้องสนามหลวง.-สำนักข่าวไทย