นนทบุรี 17 ม.ค. – กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยันเดินหน้าหาวิธีที่เหมาะสมในการเคลียร์คำขอจดสิทธิบัตรกัญชาอีก 7 คำขอที่ค้างอยู่ เผยอาจต้องหารือในระดับนโยบายกับ “สนธิรัตน์” อีกครั้ง แต่วิธีการที่ใช้ ต้องไม่กระทบกับคำขอจดสิทธิบัตรอื่นๆ แจงผลหารือเข้าใจกันมากขึ้น
นางสาวจิตติมา ศรีถาพร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับภาคประชาสังคมในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรกัญชาว่า กรมฯ ได้ยืนยันกับภาคประชาสังคมว่า กำลังจะหาวิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินการกับคำขอจดสิทธิบัตรที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบที่เหลืออยู่อีก 7 คำขอ โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่การดำเนินการจะต้องหารือในระดับนโยบายกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก่อน และการดำเนินการจะต้องไม่กระทบกับคำขอจดสิทธิบัตรอื่นๆ ที่มีอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ในการหารือร่วมกันมีความเข้าใจตรงกันมากขึ้น และข้อเสนอจากภาคประชาสังคมที่ให้ความเห็นในด้านกฎหมายหลายๆ เรื่อง กรมฯ จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่ให้มีการตีความอีกในอนาคต แต่ในการหารือ กรมฯ ได้ยืนยันว่าในการพิจารณาในเรื่องนี้ ได้ยึดหลักของกฎหมาย และยึดหลักสากล ซึ่งในประเด็นที่ภาคประชาสังคมมีข้อสงสัยในเรื่องการตีความมาตรา 9 (5) ที่ไม่ให้รับจดสิทธิบัตร หากเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัย และสวัสดิภาพของประชาชน แล้วทำไมกรมฯ ถึงไม่ปฏิเสธคำขอไปเลย ซึ่งกรมฯ ได้ชี้แจงว่าประเด็นนี้มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาให้นำความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่มาใช้ คือ ความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) มาปรับใช้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความตกลง TRIPs ข้อ 27.2 ระบุว่าการพิจารณาจะต้องมองถึงวัตถุประสงค์ของสิ่งประดิษฐ์และประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย ไม่ใช่มองแค่ว่าจะขัดกับมาตรา 9 (5) เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาจดสิทธิบัตร อย่างสารประกอบระเบิด สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ ขอรับการคุ้มครองได้ สารสกัดจากกัญชาก็เช่นเดียวกัน หากนำมาทำเป็นยา ก็ขอรับการคุ้มครองได้ จะปฏิเสธคำขอแบบนี้ไม่ได้ และหลายๆ ประเทศ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ก็ยึดหลักเดียวกันนี้ ส่วนบราซิล ที่ภาคประชาสังคมแจ้งว่าไม่รับจดเลยนั้น กรมฯ ไม่มีฐานข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ก็รับที่จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณา โดยล่าสุดของคำขอจดสิทธิบัตรที่มีสารสกัดจากกัญชาหรือมีสารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ มี 3 คำขอ ได้ละทิ้งไปแล้ว 4 คำขอได้ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ และได้ปฏิเสธคำขอไปแล้ว 3 คำขอ เหลืออีก 1 คำขอที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากพบว่าไม่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ก็จะสั่งยกเลิกต่อไป และอีก 6 คำขอ ประกาศโฆษณาแล้ว แต่ผู้ยื่นยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ ซึ่งหากยื่นมาแล้ว กรมฯ ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยกรมฯ ยืนยันว่า ไม่ทราบคำขอที่เหลือ 7 คำขอ (คำขอที่ได้ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ที่ค้างอยู่ 1 คำขอ และคำขอที่ประกาศโฆษณา แต่ยังไม่ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ 6 คำขอ) เป็นคำขอของบริษัทเดียวกัน เพราะกรมฯ ตรวจสอบตามระบบเป็นต้น . – สำนักข่าวไทย