กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ……และร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ….เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าต้องมีการสร้างความเข้าใจในนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจไม่ต้องกังวล โดยรัฐบาลจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขก่อนประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ…คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สามารถดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น มีความสามารถในการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการอนุญาตครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งสามารถถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดเพื่อประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม และให้การนำของเข้ามาในประเทศ หรือนำวัตถุดิบภายในประเทศเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อพาณิชยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกจะได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
“การแก้ไขบทบาทหน้าที่ของ กนอ.จะสอดคล้องกับหลักการของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเพื่อผลักดันให้นโยบายนี้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว กนอ.จะมีอำนาจดำเนินกิจการท่าเรืออุตสาหกรรม สามารถร่วมดำเนินการกับบุคคลอื่นในต่างประเทศได้ จัดตั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ มีอำนาจอนุมัติอนุญาตแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จครบวงจรได้อย่างสมบูรณ์ กำหนดราคาขายที่ดินและส่วนควบในนิคมอุตสาหกรรม และให้สิทธิประโยชน์เพื่อรองรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ด้วย” นายสมชาย กล่าว
นอกจากนี้ กนอ.ยังคงสภาพเดิมอยู่ต่อไป เนื่องจากการที่ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ มีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมฯ ทำให้การแปรสภาพของพนักงานและลูกจ้างทั้งหมด รวมถึงการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ทุนต่าง ๆ มีความซับซ้อนในเรื่องของนิติกรรม อีกทั้งปัจจุบัน กนอ.มีการพัฒนาและการดำเนินการที่เติบโตขึ้นจากเดิมมาก และมีนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นของ กนอ.เอง จำนวน 10 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานอีก 45 แห่ง รวมเป็น 55 แห่ง ที่ต้องบริหารจัดการ และมีแนวโน้มที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะต้องมีองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ โดยไม่ต้องแปรสภาพกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมฯ ก็จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า
ส่วนร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….ได้มีการกำหนดนิยมของคำว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมายถึง เขตพื้นที่เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) เพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคจำเป็นและการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การค้า การบริการ หรือการอื่นใดที่ประกอบกิจการในเขตพื้นที่นั้น ขณะที่การกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลและประสานงานเพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บท และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) เพื่อให้บริการกรณีที่พื้นที่นั้นมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จเป็นการเฉพาะได้ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นอกจากนี้ ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 9 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร 2.กฎหมายว่าด้วยโรงงาน 3.กฎหมายว่าด้วยผังเมือง 4.กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เฉพาะมาตรา 46 5.กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะการขออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป 6.กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน 7.กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข 8.กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร และ 9.กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์.-สำนักข่าวไทย