กรุงเทพฯ 8 ม.ค.-ครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษี ช่วยผู้ประสบภัยพายุ ปาบึก ทั้งเงินบริจาค, การซ่อมแซมบ้าน 1 แสนบาท รถยนต์ 3 หมื่นบาท รวมทั้งบูรณาการ 7 สถาบันการเงินลดหย่อนดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (8 ม.ค. ) ว่า ที่ ประชุมครม.รับทราบมาตรการทางด้านภาษีรวม 2 มาตรการ เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” รวมถึงรับทราบมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 19 มาตรการ ที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย โดยเงินบริจาค ผ่านสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ในรายการพิเศษ “รวมน้ำใจไทย ช่วยวาตภัยใต้ เมื่อคืนที่ผ่านมา มียอดรวม 132.34 ล้านบาท และยังมีผู้ประสงค์จะบริจาคเพิ่มเติมเข้ามาอีก
สำหรับมาตรการภาษี ในส่วนของ บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สิทธิเช่นเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เท่าจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยจะต้องเป็นการบริจาคผ่านหน่วยงานส่วนราชการองค์การของรัฐ องค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร ในส่วนของผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับบริจาคเงินชดเชยจากรัฐบาลหรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนอกเหนือจากเงินชดเชยจากรัฐบาลจะไม่นำมาคำนวณเป็นเงินได้แต่จะต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
นอกจากนี้บุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือห้องชุดไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถยนต์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะต้องมีค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562
ในส่วนมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะ (SFIs) จำนวน 7 แห่งรวม 19 มาตรการประกอบด้วยการพักชำระหนี้ 3-6 เดือนการให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการซ่อมแซม เช่น ธนาคารออมสินพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยและให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีเป็นระยะเวลา 4 เดือน สำหรับลูกหนี้ที่หลักประกันเสียหายและให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือทดแทนอาคารเดิมวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี ประนอมหนี้ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านรายได้ ในกรณีลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจากอุทกภัยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปีตลอดอายุสัญญาในกรณีที่อยู่อาศัยของลูกพี่ได้รับความเสียหายทั้งหลังให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคารและให้ผ่อนชำระต่อในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา และสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นระยะเวลา 6 เดือน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยพักชำระหนี้เงินต้นและกำไรเป็นระยะเวลา 3 เดือนและพักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 36 เดือนให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมตามความจำเป็นอัตรากำไรร้อยละ SSPRR-3.5 ต่อปี
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการเป็นระยะเวลา 6 เดือนลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 6-12 เดือนให้สินเชื่อเพื่อซื้อ/ซ่อมแซมเครื่องจักร /อาคารโรงงานที่ได้รับความเสียหายระยะเวลา 5 ปีปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 1 ปีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีในปีแรก
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือบสย.ขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาทและค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 0 เป็นระยะเวลาสูงสุด 2 ปี
ทั้งนี้ประเมินว่ารัฐอาจจะสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์รวม 60 ล้านบาทและด้านรถ 820 ล้านบาทแต่เป็นประโยชน์เพื่อการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก .- สำนักข่าวไทย