กรมอนามัย 8 ม.ค.-กรมอนามัย ออกประกาศ ‘ค่าเฝ้าระวังผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก’ พร้อมแนะคนกรุงร่วมกันลดการจุดธูป เผาขยะ ที่จะเพิ่มฝุ่นละอองขนาดเล็ก ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่ากรมอนามัยได้ออกประกาศเรื่องค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดและโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งระดับของผลกระทบต่อสุขภาพ ได้ใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบ แบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่
สีฟ้า (0–25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
สีเขียว (26–38 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
สีเหลือง (38–50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สีส้ม (51–90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
และสีแดง (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป)
โดยตั้งแต่ระดับสีส้มเป็นต้นไป เป็นระดับที่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศและมีผลกระทบต่อสุขภาพ
สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแหล่งกำเนิดจากหลายแหล่ง เช่น การจราจร การขนส่งวัสดุ การผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้ และการจุดธูป เป็นต้น โดยประชาชนที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศมากกว่าประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยเรื้อรังอื่นๆ รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะเฉียบพลัน ได้แก่ ผิวหนังเป็นผื่นคัน ระคายเคืองตา แสบจมูก ไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก เกิดโรคหอบหืด เป็นต้น รวมทั้งผู้อยู่ริมถนน
ซึ่งวิธีลดปริมาณฝุ่นละอองที่ดีที่สุดคือประชาชนต้องมีจิตสำนึกร่วมกันเพื่อลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง เช่น ลดการจุดธูป ลดการเผาขยะ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณฝุ่นเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มจากการลดใช้ถุงพลาสติกหันมาใช้ ถุงผ้าในการจับจ่ายสินค้าแทน ก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะกำจัดด้วยวิธีการเผาให้น้อยลง ทำความสะอาดบ้าน บ่อยๆ เพื่อเป็นการลดฝุ่นละออง และป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองที่เหมาะสม ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม ถ้าที่พักอาศัยอยู่ในที่เสี่ยงฝุ่นละอองให้ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด คอยติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ และประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการหรือสื่อต่างๆ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัยได้เฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารของโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร กระจายตาม 6 โซนของกรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารและบรรยากาศของโรงเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจัดทำข้อเสนอ คำแนะนำในการลดและป้องกันมลพิษทางอากาศ รวมทั้งพัฒนาต้นแบบโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพในโรงเรียนกรุงเทพมหานครเพื่อสร้าง แนวทางการสร้างความรอบรู้สำหรับเด็กนักเรียนให้มีความรู้และสามารถดูแลตนเองได้ต่อไป .-สำนักข่าวไทย