ปภ. 4 ม.ค.- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่พายุโซนร้อน ปาบึก ให้องคมนตรี รับฟัง พร้อมเรียกประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ กำชับทุกหน่วยช่วยเต็มที่ คาดหลังวันที่ 6 ม.ค.สถานการณ์คลี่คลายทั้งหมด แต่เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมาก ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไปอีก 2 วัน คือวันที่ 6 – 7 ม.ค.จึงยังไม่ให้ประชาชนกลับเข้าพื้นที่
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้รายงานสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนในระดับพื้นที่ เหตุกรณีพายุโซนร้อนปาบึก ต่อนายพลากร สุวรรณรัฐ พร้อมด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาพล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ที่มาติดตามรับฟังสถานการณ์ โดยมีการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการ ปภ.จังหวัดได้ประเมิน ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร โดยนโยบายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในขณะนี้คือไม่ใช่แค่แจ้งเตือนเท่านั้น เมื่อถึงการตัดสินใจที่จะต้องดำเนินการ เช่น ห้ามเรือออกทะเล เตรียมอพยพคนกรณีดินถล่ม จะต้องรับข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ และสั่งงาน ให้ประชาชนได้รับทราบทันที พร้อมย้ำทุกหน่วยงานในพื้นที่ต้องบูรณาการงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลโดยละเอียดแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
นายพลากร กล่าวให้กำลังใจต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ที่เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก ทั้งนี้จากการพยากรณ์ของหลายหน่วยงานว่า พายุลูกนี้ น่าจะมีความรุนแรงไม่แพ้ พายุแฮเรียต ที่เข้าถล่มแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2505 ที่ส่งผลให้แหลมตะลุมพุกได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นพายุที่ร้ายแรงที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา ต่อจากนั้นเป็นพายุเกย์ ก่อให้เกิดความเสียหายด้านกิจการประมงมาก รวมถึงบนบก การมาวันนี้ เพื่อมาเยี่ยมเยียน และให้กำลังใจผู้รับผิดชอบ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ รวมถึงจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ และทีมงานในพื้นที่ภาคใต้
ด้านนายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานในที่ประชุม ว่า พายุปาบึก ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เวลา 12.45 น. ความเร็วลม 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุปาบึกจะอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่นในคืนนี้ และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้างในหลายจังหวัด ส่วนสถานการณ์ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ล่าสุดสถานการณ์เบาบางลง
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ภาพรวมพื้นที่ภาคใต้ ยังต้องเฝ้าระวังฝนต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ลงมาถึง พัทลุง และ สงขลา ขณะที่ทางตอนบน มีบางส่วนล้ำขึ้นไปข้างหน้าทางจังหวัดชุมพร ส่วนซีกตะวันตก ขยับไปที่จังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง สตูล ซึ่งขณะนี้จังหวัดสตูล สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่พายุปาบึกเคลื่อนไปทางทะเลอันดามัน
นายภูเวียง กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของพายุปาบึก หลังจากที่เคลื่อนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป จะเข้าไปแนวรอยต่อจังหวัดพังงาและระนอง แต่แนวโน้มจะรวมที่พังงามากกว่า จากนั้นในช่วงเช้าของวันที่ 5 มกราคม 2562 คาดว่ากำลังพายุจะเคลื่อนลงไปในทะเลอันดามัน และขยับออกไปเรื่อย ๆ วันที่ 6 มกราคม เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายทั้งหมด ฝนจะเริ่มลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงคลื่นจะอ่อนตัวลง แต่อย่างไรก็ตามจากการประเมิน ฝนที่ตกลงมา เมื่อช่วงเช้าที่จังหวัดปัตตานี มีปริมาณ 200 มิลลิเมตร ซึ่งลักษณะเช่นนี้คาดว่าพายุปาบึก จะผลิตน้ำในเทือกเขานครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี และพัทลุง ดังนั้นยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไปอีก 2 วัน คือวันที่ 6 และ 7 มกราคม ยังไม่ปลอดภัยที่ประชาชนจะเข้าพื้นที่
นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กล่าวว่า ข้อมูลสอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า จะมีอิทธิพลฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 4-6 มกราคม จากพายุนี้จะส่งผลให้มีคลื่นลมแรง และเกิดคลื่นซัดฝั่ง โดยคลื่นซัดฝั่งจะยกระดับน้ำทะเลสูง 2-3 เมตร ขณะที่คลื่นสูง 3-5 เมตร โดยพื้นที่บริเวณ 230 กิโลเมตร จะได้รับผลกระทบ ลมแรง และฝนตกตลอดเส้นทางที่พายุเคลื่อนผ่าน สำหรับปริมาณฝนที่มีการคาดการณ์ในวันที่ 5 มกราคม จะมีฝนตกมากที่สุด และปริมาณฝนจะต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 6 มกราคม และจะลดลงในวันที่ 7 มกราคม ส่วนคลื่นทะเลจะส่งผลกระทบถึงวันที่ 4 มกราคม นี้เท่านั้น และจะย้ายฝั่งไปยังทะเลอันดามัน .- สำนักข่าวไทย