กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งด่วนตั้งกองอำนวยการติดตามและเฝ้าระวังพายุปาบึกทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง กำชับทุกหน่วยงานประสานฝ่ายปกครองและทหารเฝ้าระวังภัยระดับสูงสุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการถึงหัวหน้าหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคใต้ เรื่องการป้องกันแก้ไขปัญหาจากพายุโซนร้อนปาบึกนั้น ขอให้ทุกหน่วยในพื้นที่ประสานการปฎิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กอ.ปภ.) จังหวัดและหน่วยทหารในพื้นที่ให้เกิดความเป็นเอกภาพในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจเกิดจากพายุโซนร้อนปาบึก สำหรับส่วนกลางให้กำหนดเจ้าหน้าที่ประสานงานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กอ.ปภ.ชาติ) โดยใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทานจัดตั้งกองอำนวยการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ขึ้นที่กรมชลประทาน โดยให้ติดตามเส้นทางการเคลื่อนตัวความเร็วของพายุ ซึ่งล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่าจะขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชค่ำพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) ทั้งนี้ กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทั้ง 16 จังหวัดภาคใต้ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ทุกกระทรวงบูรณาการกันปฏิบัติงาน
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า สั่งการให้กรมประมงร่วมกับ กอ.ปภ.แจ้งเตือนเกษตรกรที่ทำประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้านให้งดเดินเรือตามประกาศของแต่ละจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังและบ่อเฝ้าระวัง หากเกิดน้ำท่วม ด้านปศุสัตว์ให้กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมอพยพสัตว์จากพื้นที่ประสบภัยไปยังพื้นที่ที่กำหนดไว้ตามแผน เตรียมเสบียง เวชภัณฑ์ และหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ออกช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์
ส่วนกรมชลประทานซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการพร่องน้ำระบายน้ำนั้น ได้กำชับให้พร่องน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำจากฝนที่จะตกหนัก หากมีน้ำท่วมขังพื้นที่ให้สูบและผลักดันน้ำออกทะเลเร็วที่สุด ดูแลให้อาคารชลประทานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือสำรองที่จุดพักใหญ่ที่สุดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและมีจุดพักหลักใน 4 จังหวัดได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส อีกทั้งยังมีจุดพักรองเครื่องจักรกลอีก 13 แห่ง ครอบคลุมทั้งภาคใต้ และพร้อมระดมจากทั่วประเทศมาเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็นและยังมีจุดพักใหญ่ที่สุดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าความรุนแรงของพายุจะมากน้อยเพียงใด จะรุนแรงเท่าพายุโซนร้อนแฮเรียตที่ขึ้นฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชปี 2505 หรือไม่ ได้ให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับปีนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้า ประกอบกับ มีเครื่องจักร-เครื่องมือที่ทันสมัยในการบริหารจัดการน้ำ จึงคาดว่าจะไม่เสียหายเท่ากับเมื่อ 50 ปีก่อน ที่มีหลายคนประเมินว่าจะรุนแรงเหมือนที่พายุแฮเรียตเคลื่อนเข้าสู่แหลมตะลุมพุก.-สำนักข่าวไทย