กรุงเทพฯ 20 ธ.ค. – กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเตรียมลู่ทางกู้เงิน 4,690 ล้านบาท นำมาสมทบจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยปี 60/61 เพื่อช่วยลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้โรงงานน้ำตาลที่มียอดสูงถึง 19,310 ล้านบาท
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กองทุนฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร 10,363.73 ล้านบาท แต่มีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน 19,310.67 ล้านบาท เบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือเงินชดเชย 14,190 ล้านบาท กองทุนฯ จะใช้เงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงานประมาณ 9,500 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือภาระเงินชดเชยอีกประมาณ 4,690 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินเพื่อการชำระหนี้ โดยกองทุนฯ คาดว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิ จะขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วต่อไป
นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า จากกรณีที่ราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ 880 บาท/ตันอ้อย ส่วนราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ดังนั้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน 19,310.67 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเสร็จภายในเกิน 2 สัปดาห์ และเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้กองทุนฯ จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานโดยเร็วต่อไป. -สำนักข่าวไทย