สระบุรี 19 ธ.ค.-คดีกลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุรุมโทรมเด็กหญิงในพื้นที่ จ.สระบุรี พ่อเด็กหญิงโพสต์แฉมีผู้ก่อเหตุ 7 คน ขณะที่ ผบช.ภ.1 เดินทางลงพื้นที่ติดตามคดี ยืนยันคดีนี้้ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะเป็นคดีเด็กและเยาวชน
พ่อของเหยื่อในเหตุรุมโทรมที่สระบุรี โพสต์คลิปในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งในวันนี้ (19 ธ.ค.) ระบุว่าเป็นการเดินทางไปพูดคุยกับเพื่อนของลูกสาวที่อยู่ในจุดเกิดเหตุในวันดังกล่าว ซึ่งได้ข้อมูลล่าสุดว่าในที่เกิดเหตุมีวัยรุ่นชายอยู่ในเหตุการณ์รวมทั้งหมด 9 คน ในจำนวนนี้มี 7 คนที่ก่อเหตุรุมโทรม ส่วนอีกคน 2 คน คาดว่าน่าจะรู้เห็นเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่าพ่อเหยื่อได้นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสระบุรี เพื่อรวบรวมเป็นหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เดินทางลงพื้นที่ติดตามคดี ยืนยันว่าคดีนี้้ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะเป็นคดีเด็กและเยาวชน ล่าสุดวัยรุ่นที่ก่อเหตุยังอยู่ระหว่างสอบปากคำรวม 4 คน โดยสหวิชาชีพ คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้
ส่วนอีกเหตุการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้น คือกรณีที่นายสังวาลย์ สิทธิปัญญา ประธานสภา อบต.ผึ้งรวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติที่ปรากฏในคลิปเข้าไปไกลเกลี่ยระหว่างพ่อของผู้เสียหายกับกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุรุมโทรม และใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ล่าสุดเจ้าตัวทนกระแสกดดันไม่ไหว ยื่นหนังสือลาออกจากราชการกับนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
นอกจากนี้ยังมีรายงานล่าสุดว่าพ่อของเหยื่อได้เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทอีกด้วยขณะที่มีกระแสข่าวว่าตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบคดีดังกล่าว ล่าสุดมีการยืนยันว่ายังเป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลทางคดีว่าผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีประเด็นใดที่จะต้องลงไปทำคดีแทนตำรวจพื้นที่
ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเหยื่อว่า สำนักงานยุติธรรมสระบุรีได้แจ้งสิทธิให้เด็กและครอบครัวรับทราบว่าสามารถรับเงินค่าตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญา รวมทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือปรึกษาข้อกฎหมาย
ขณะที่มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี สรุปสถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ประจำปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2561-10 ธันวาคม โดยรับเรื่องร้องทุกข์มาทั้งสิ้น 7,745 เรื่อง อาทิ ข่มขืน/อนาจาร 768 ราย, ล่อลวง/ค้าประเวณี/ค้ามนุษย์ 102 ราย, ทารุณกรรม/ทำร้ายร่างกาย/กักขัง 958 ราย, คนหาย 245 ราย เป็นต้น
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่าสถิติการร้องเรียนเพิ่มขึ้นหลายประเด็น โดยเฉพาะปัญหาข่มขืน/อนาจาร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ปัญหาทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ส่วนปัญหาค้ามนุษย์/ค้าประเวณี ลดลงร้อยละ 19
เจาะลึกไปที่ประเด็นปัญหาข่มขืนกระทำชำเรา พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบ 768 ราย เฉลี่ยคือวันละ 2.23 ราย ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลจากการรวบรวมของหน่วยงานเดียว และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ ผู้กระทำผิดคือญาติ สูงสุด 109 ราย รองลงมาคือ พ่อเลี้ยง, พ่อ, ครู และนายจ้าง.-สำนักข่าวไทย