กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจ่ายซีพี 377 ล้านบาท หลังแพ้คดีกล้ายาง ตั้งกรรมการสอบข้าราชการฐานละเมิดทางแพ่ง ทำให้รัฐเสียหาย โดยจะต้องจ่ายเงินคืนแก่รัฐ
มีรายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า คณะที่ปรึกษาทางกฎหมายของกระทรวงกำลังเจรจาประนอมหนี้กับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด (ซีพี) กรณีศาลฎีกาตัดสินให้กระทรวงเกษตรฯ แพ้คดีการจัดซื้อกล้ายาง 1 ล้านไร่จากการฟ้องร้องของซีพี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรทำสัญญารับซื้อกล้ายางจากบริษัทซีพีระหว่างปี 2547-2549 ต่อมากรมวิชาการเกษตรระงับการส่งมอบต้นกล้ายาง 16.4 ล้านตัน ทำให้ซีพีฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งจากต้นกล้ายางที่ไม่ได้ส่งมอบและภาพลักษณ์ของบริษัทมูลค่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาได้ตัดสินเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2560 ให้กรมวิชาการเกษตรแพ้คดีต้องชดใช้ค่าเสียหาย 377 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของกระทรวงเกษตรฯ ล่าสุดคณะกรรมการประนอมหนี้ได้เจรจากับซีพี ซึ่งทางซีพีตกลงเรียกค่าชดเชยตามที่ศาลสั่ง 377 ล้านบาท แต่ยกเว้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องชำระทันที แต่คณะที่ปรึกษาทางกฎหมายระบุว่าการชำระค่าเสียหายต้องชำระต่อหน้าศาล จึงยังเป็นข้อขัดแย้งเกี่ยวกับขั้นตอนปฏิบัติ ทางกระทรวงเกษตรฯ กำลังเร่งทบทวนข้อกฎหมาย เพื่อให้ได้ผลสรุป ใน 1 เดือนว่าจะต้องชำระต่อหน้าศาลหรือชำระแก่ซีพีโดยตรง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เจรจากับบริษัทซีพีว่าจะขอแบ่งชำระเป็น 2 งวด โดยงวดแรกจะชำระ 250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 127 ล้านบาทจะชำระภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 เนื่องจากการหาเงินมาชำระค่าชดเชยดังกล่าวจำเป็นต้องขออนุมัติงบประมาณ แต่ระหว่างดำเนินคดี ไม่ทราบว่าจะแพ้หรือชนะ จึงไม่ได้เสนอของบประมาณล่วงหน้า ขณะนี้ได้นำงบประมาณเหลือจ่ายของกระทรวงมาชำระงวดแรกก่อน ส่วนที่เหลือจะชำระก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2562
คดีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้หลายปีมาแล้ว แต่ศาลเพิ่งมีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ทำให้กระทรวงเกษตรฯ ต้องใช้งบประมาณนำมาจ่ายค่าเสียหาย จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฐานละเมิดแก่บุคคลใดที่สร้างความเสียหายแก่รัฐ หากผลการสอบสวนปรากฏว่าบุคคลที่สร้างความเสียหายแก่รัฐนั้น ดำเนินการโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นกรณีทางแพ่งจะต้องจ่ายเงิน 377 ล้านบาทคืนแก่รัฐ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการสอบสวนทันทีที่กระทรวงเกษตรฯ จ่ายเงินซีพี ซึ่งถือว่าความเสียหายของรัฐได้เกิดขึ้นแล้ว
สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเกษตรกรร่วมโครงการประมาณ 142,000 ราย ต้องใช้กล้ายางถึง 90 ล้านต้น ระยะเวลาของโครงการ 3 ปี (2547-2549) กรมวิชาการเกษตรได้ว่าจ้างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัดเป็นผู้ผลิตและส่งมอบกล้ายาง โดยโครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือเงินทุนจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกร 1,440 ล้านบาท ชำระคืนภายใน 10 ปี นับจากยางให้ผลผลิตและวงเงินสินเชื่อเพื่อการดูแลรักษาระยะเวลา 6 ปี อีก 5,360 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8
ทั้งนี้ กระบวนการจัดหากล้าพันธุ์ยางนั้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศประกวดราคาให้บริษัทเอกชนยื่นประมูล ซึ่งปรากฏว่าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพีชนะการประมูล ต่อมากรมวิชาการเกษตรทำสัญญากับซีพีให้ผลิตต้นกล้าพันธุ์ยางพารา ซึ่งต้องใช้ 90 ล้านต้น วงเงิน 1,397 ล้านบาท เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกภายในระยะเวลา 3 ปี (2547-2549) โดยตามสัญญาว่าจ้างระบุว่าปีแรกซีพีต้องส่งมอบกล้าพันธุ์ยางให้ได้ 18 ล้านต้น หรือร้อยละ 20 ปี 2548 จำนวน 27 ล้านต้น หรือร้อยละ 30 และปี 2549 ซีพีต้องส่งมอบให้ได้ 45 ล้านต้น หรือคิดเป็นร้อยละ 50
สำหรับการยกเลิกสัญญาดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจากการที่ก่อนสัญญาสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ทางบริษัทไม่สามารถส่งมอบกล้ายางได้ตามสัญญาด้วยสาเหตุภัยธรรมชาติจนทำยางชำถุงไม่ได้ จึงแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรรับทราบและขอต่อสัญญาการส่งมอบจากวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ออกไป กระทรวงเกษตรฯ จึงสั่งการให้ยกเลิกสัญญาการส่งมอบกล้ายางระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับบริษัท สร้างความเสียหายทั้งแก่บริษัทและเกษตรกรที่รอรับกล้ายางจำนวนมาก เพราะช่วงก่อนที่สัญญาจะจบลงวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ทางบริษัทไม่สามารถส่งมอบกล้ายางได้ตามสัญญาด้วยสาเหตุภัยธรรมชาติ จนทำยางชำถุงไม่ได้ จึงแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรรับทราบและขอต่อสัญญาการส่งมอบ จากวันที่ 31 สิงหาคม 2549 เป็นวันที่ 15 เมษายนถึงกรกฎาคม 2550 และพร้อมจะจ่ายค่าเสียหายตามสัญญา ซึ่งการขอต่อสัญญาครั้งนี้บริษัทระบุว่า สามารถทำได้ตามที่ปรากฎในสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัย
ต่อมาเมื่อกรมวิชาการเกษตรหารือกับกระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 ว่า ยินดีจะต่อสัญญาให้ บริษัท จึงเร่งผลิตยางชำถุงที่ต้องเริ่มจากการจ้างเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ชำถุงยางจนถึงการติดตา ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน และบริษัทมีกล้ายางพร้อมจะส่งมอบ แต่กรมวิชาการเกษตรกลับมีหนังสือว่าขอยกเลิกโครงการนี้ และอ้างว่าไม่เคยมีหนังสือเพื่อขอต่อสัญญา จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย