กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. – กรมปศุสัตว์รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ทุกชนิด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายในพื้นที่เกิดโรค คุมเข้มขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการค้าสัตว์และทะเบียนรถขนส่งสัตว์เพื่อให้การควบคุมโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระจายวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยลงสู่พื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ทุกชนิดระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึงมกราคม 2562 ทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องรอครบวงรอบ 6 เดือนของการฉีดวัคซีนครั้งล่าสุด อีกทั้งหากฟาร์มข้างเคียงมีสัตว์ป่วย เกษตรกรสามารถมารับวัคซีนจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอไปฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ที่ผ่านมาพบว่าหลายฟาร์มละเลยการฉีดวัคซีน ทำให้สัตว์ป่วย ประกอบกับเกษตรกรรายย่อยไม่ได้จัดทำระบบป้องกันโรคตามมาตรฐานฟาร์ม จึงขอความร่วมมือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์และศูนย์รับน้ำนมดิบ เพื่อเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้ครอบคลุมสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการค้าสัตว์ทุกรายและบันทึกหมายเลขทะเบียนที่ใช้ขนส่งสัตว์ทุกคัน พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าสัตว์และซากสัตว์ในการชะลอการเคลื่อนย้ายโค กระบือ แพะ แกะจนถึง 15 ธันวาคม 2561 ในจังหวัดที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี และชุมพร ยกเว้นกรณีเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าโรงฆ่าสัตว์ซึ่งต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากเชื้อไวรัสพบในโค กระบือ แพะ แกะ และสุกร สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองหรือแผล บริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านมรวมทั้งไรกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก โรคนี้หากเกิดในสัตว์ที่โตเต็มวัยจะไม่ทำให้ถึงตาย ยกเว้นสุขภาพอ่อนแอ จนติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวการณ์ติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ในลูกสัตว์ถึงตายได้เนื่องจากเชื้อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
“การป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยเข้าสู่ฟาร์มนั้น ต้องงดนำสัตว์จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเข้ามาเลี้ยงอย่างน้อย 1 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่โค กระบือ แพะ แกะ อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ปีละ 2 ครั้ง อีกทั้งยกระดับการเลี้ยงสัตว์ให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (GAP) หรือให้เป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการสัตว์ในฟาร์มอย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย