กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – ก.เกษตรฯ เสนอ ครม. 4 ธ.ค.นี้ พิจารณาโครงการสร้างความเข้มแข็งชาวสวนปาล์มตามมติ กนป. รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำน้ำมันปาล์มไปใช้ เพื่อลดปริมาณปาล์มในสตอก มั่นใจจะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) จะนำโครงการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรชาวสวนปาล์มตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 4/2561 มีมติให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ซึ่งจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ งบประมาณรวมกว่า 3,458 ล้านบาท แบ่งเป็นงบที่จ่ายให้เกษตรกร 3,375 ล้านบาท งบชดเชยต้นทุนเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะสำรองจ่ายเงินให้เกษตรกรไปก่อน อัตราต่ำสุดของอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 6 เดือน (FDR)+1 รวมประมาณ 73.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการของ ธ.ก.ส.รวม 1.5 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ วงเงิน 8.3 ล้านบาท
สำหรับค่าครองชีพดังกล่าวจะจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้ว (อายุมากกว่า 3 ปี) 150,000 ราย พื้นที่รวมทั่วประเทศ 2.25 ล้านไร่ โดยเป็นการช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริงในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันกับกรมส่งเสริมการเกษตรภายในเดือนธันวาคม 2561 กรณีที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วให้มาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันที่สำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด ทั้งนี้ ต้องปลูกปาล์มในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ รวมถึงปลูกในพื้นที่ให้สิทธิ์ตามหนังสือของกรมป่าไม้ 47 รายการ วงเงิน 3,375 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถรักษาคุณภาพผลผลิตไว้ได้ ไม่ต้องรีบตัดปาล์มขาย มีระยะเวลาให้ผลปาล์มสะสมน้ำมันได้มากกว่าร้อยละ 18 ตามมาตรฐานจึงค่อยตัด
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการ กนป. กล่าวว่า โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มใช้เงิน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายและ ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามความจำเป็นและเหมาะสมหรือตามความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนของมาตรการเร่งรัดการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ไปแล้วนั้น ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำน้ำมันปาล์ม 160,000 ตันไปผลิตกระแสไฟฟ้าให้เสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะเร่งรัดประสานกรมธรุกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานนำไปผสมน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมัน B 20 เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งมั่นใจว่า มาตรการทั้งหมดนี้จะส่งผลให้สตอกน้ำมันปาล์มลดลงและเกษตรกรสามารถขายปาล์มน้ำมันได้ราคาสูงขึ้นตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย