กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – ก.เกษตรฯ เสนอ ครม.เห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพยางพารา 4 ธ.ค.นี้ และเร่งทุกหน่วยงานดำเนินการทันที เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) จะนำมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เกี่ยวกับโครงการรักษาเสถียรภาพยางพาราเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบ โดยมี 3 มาตรการ คือ โครงการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โครงการรณรงค์สร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร และโครงการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีบทบาทรักษาเสถียรภาพราคายางพารา
ทั้งนี้ เมื่อ ครม.เห็นชอบจะเร่งรัดทุกหน่วยงานดำเนินการทันทีสำหรับโครงการรักษาเสถียรภาพยางพารา ซึ่งจะจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่องนั้น กยท.จะแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและรับรองสิทธิ์โครงการฯ ระดับตำบล คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เปิดรับสมัครเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตรวจสอบสิทธิ์เกษตรกรชาวสวนยาง ประกาศรับรองสิทธิ์รายชื่อ จากนั้นจะจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่าเริ่มจ่ายประมาณวันที่ 26 ธันวาคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวสวนยางทั่วประเทศ
สำหรับโครงการรณรงค์สร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรนั้น กยท.รายงานว่ากำลังประสานกับกรมทางหลวงเพื่อกำหนดแบบก่อสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา ซึ่งเป็นถนนดินลูกรังอัดแน่นผสมยางพาราและผงปูนซีเมนต์ คาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 10 ธันวาคม แต่ยังต้องจัดทำสูตรผสมยางพาราสำหรับชุดดินแต่ละพื้นที่ซึ่งมีลักษณะดินแตกต่างกัน อัตราส่วนผสมจึงแตกต่างกันบ้าง ดังนั้น เมื่อได้แบบก่อสร้างและสูตรถนนสำหรับแต่ละชุดดินต้องเร่งประสานกรมบัญชีกลางกำหนดราคากลางตามแบบและสูตรที่กรมทางหลวงรับรอง นอกจากนี้ กยท.ยังจะจัดทำคู่การทำถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพาราที่เข้าใจง่ายแจกจ่ายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่ง ขณะนี้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดสำรวจเงินสะสมของอปท.และระยะทางของถนนที่แต่ละ อปท.จะสร้างซึ่งที่แสดงความประสงค์ยาวกว่า 1 กิโลเมตรทั้งสิ้น ซึ่ง กยท.จะนำมาคำนวณความต้องการใช้น้ำยางมาเป็นส่วนผสมและทำหน้าที่ส่งน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกรแก่ อปท. หากจังหวัดใดเกษตรกรไม่ผลิตน้ำยางสดหรือน้ำยางสดในพื้นที่ไม่เพียงพอให้รับจากเกษตรกรจังหวัดใกล้เคียงที่ใกล้ที่สุดเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ขณะนี้หลายจังหวัดดำเนินการบ้างแล้ว โดยใช้งบประมาณของปี 2560 ได้แก่ อบจ.ปราจีนบุรี บึงกาฬ หนองบัวลำภู ขอนแก่น เป็นต้น โดยที่ขอนแก่นนั้น ปริมาณน้ำยางสดไม่เพียงพอได้รับซื้อจากเกษตรกรจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย
ส่วนโครงการส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีบทบาทรักษาเสถียรภาพราคายางพารานั้น จะมีวงเงินสินเชื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรในการแปรรูปยางพาราสำหรับการส่งออก โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี สหกรณ์การเกษตรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อเพิ่มการรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยสหกรณ์ดำเนินการเองไม่ผ่านคนกลาง
นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้ง 3 โครงการเป็นมาตรการระยะเร่งด่วนที่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราภายในประเทศมากและเร็วที่สุด โดยกระทรวงเกษตรฯ ยังมีอีกหลายมาตรการที่จะดำเนินการทั้งการส่งเสริมการผลิตยางล้อ ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง ประสานกับกระทรวงการคลังรณรงค์มาตรการ “ใช้ช่วยชาติ” เพื่อให้ประชาชนซื้อผลิตภัณฑ์ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบ แล้วนำลดหย่อนภาษี ซึ่งได้สั่งการให้ทูตเกษตรทุกประเทศเผยแพร่มาตรการดังกล่าวให้ต่างประเทศรับทราบ ตลาดโลกจะเห็นถึงสตอกยางพาราที่จะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้สามารถกระตุ้นราคาซื้อขายล่วงหน้าให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลให้ราคาในประเทศปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
“กระทรวงเกษตรฯ ยังมีมาตรการระยะยาวรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ได้แก่ การลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ อีกทั้งสั่งการให้ กยท.ให้ศูนย์วิจัยยางพาราทุกแห่งและกรมวิชาการเกษตรเร่งวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ยางพาราให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งพัฒนาคุณภาพน้ำยางให้ดีขึ้นสามารถตอบสนอความต้องการของตลาดในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย แม้ต้องใช้เวลา แต่เป็นมาตรการที่จะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งไทยต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติอื่น ๆ ได้ในอนาคต” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย