กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – รฟท.ยืนยันสถานีกลางบางซื่อพร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2564 แต่คนใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงไม่ต้องตกใจว่าหัวลำโพงจะปิดพื้นที่ โดยอาจใช้สถานีหัวลำโพงเป็นสถานีสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ- พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อมั่นใจว่างานก่อสร้างจะเสร็จเดือนพฤศจิกายน 2562 ก่อนที่ระบบอาณัติสัญญาณจะเสร็จกลางปี 2563 และจะเริ่มทดสอบระบบ หรือเทสท์รัน เดือนมิถุนายน 2563 และเปิดบริการเดือนมกราคม 2564 อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าแม้ว่าสถานีกลางบางซื่อจะเสร็จเปิดบริการ แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) จะปิดบริการ
“หลังสถานีกลางบางซื่อเปิด สถานีหัวลำโพงจะใช้เวลาขนย้ายขบวนรถเตรียมความพร้อม รวมถึงดูความเชื่อมต่อโครงการสำคัญ เช่น โครงการส่วนต่อขยาย (Missing Link) ช่วงบางซื่อ- พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก จะแล้วเสร็จ ซึ่งตามกรอบจะใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน และอาจใช้สถานีหัวลำโพงเป็นสถานีของสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ- พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง” นายวรวุฒิ กล่าว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แบ่งตามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ และสถานีจตุจักร ทางรถไฟยกระดับ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ตลอดจนถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้าม ซึ่งมีความคืบหน้าร้อยละ 77.37 สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ประกอบด้วย ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน 8 สถานี ถนนเลียบทางรถไฟ สะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ และระบบระบายน้ำ มีความคืบหน้าร้อยละ 99.44 สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต มีความก้าวหน้าของงานที่ดำเนินการเสร็จคิดเป็นร้อยละ 38.24
สำหรับการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งออกแบบให้รองรับและเชื่อมต่อการคมนาคมได้อย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบ และยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1 ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRT ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา
นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วย โดยปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อมีความคืบหน้าการก่อสร้างร้อยละ 60.28 หลังจากนั้นได้พาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมงานก่อสร้างสถานีดอนเมือง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานีสำคัญรองรับการเชื่อมโยงรถไฟกับท่าอากาศยาน ตัวสถานีตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง ใกล้สถานีรถไฟดอนเมืองปัจจุบัน โครงสร้างสถานีแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นพื้นดิน (Ground Floor Level) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ชั้นที่ 2 (Concourse Level) เป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านขึ้นไปยังชานชาลา รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมืองได้ด้วย ชั้นที่ 3 (LD Platform Level) รถไฟทางไกล และชั้น 4 (CT Platform Level) รถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึงร้อยละ 98.49
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารถึง 300,000 คน/วัน รวมทั้งรองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟชานเมืองรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งทางรางอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทยและกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.-สำนักข่าวไทย