ญี่ปุ่น 6 พ.ย.- ช็อก! สถิติใหม่เยาวชนญี่ปุ่น “ฆ่าตัวตาย” สูงสุดในรอบ 32 ปี ทั้งกังวลอนาคต ถูกกดดันเรื่องเรียน แถมถูกรุมรังแก
โอโมโตะ โฮโนกะ เสียชีวิตไปในอายุเพียง 16 ปี ชีวิตการเป็นไอดอลของเธอเริ่มมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เพียงเพราะเธอชื่นชมไอดอลรุ่นพี่อย่าง Momoiro Clover Z และ AKB48 จึงตัดสินใจเข้าวงไอดอล Enoha Girls เป็นวง local Idol จากจังหวัดเอะฮิเมะ (คล้าย AKB48 แต่เน้นการสร้างแฟนคลับให้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์เกษตรชุมชนในจังหวัดของตนเอง) เดบิวต์ปี 2012 มี 8 ซิงเกิ้ล โด่งดังเพราะเคยแสดงในงานเฟสติวัลไอดอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่าง Tokyo Idol Festival ปี 2016 ด้วย
21 มีนาคม 2561 โอโมโตะ โฮโนกะ จบชีวิตตัวเองด้วยวัย 16 ปี ซึ่งก่อนหน้าที่เธอจะเสียชีวิตก็ได้ออกแสดงตามปกติและไม่มีแม้แต่ท่าทางที่จะสื่อว่าเธอกำลังเครียดและรู้สึกไม่ดี งานศพของเธอจัดขึ้นที่เมืองมัตสึยะมะ จ.เอะฮิเมะ หลังจากเธอเสียชีวิตทางต้นสังกัด Enoha Girls กลับไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆกับเหตุการณ์นี้เลยแม้แต่น้อย
จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม ทางผู้บริหารของ Enoha Girls ต้องออกมาแถลงการณ์ดังกล่าวและมีการยุติกิจกรรมทั้งหมดของวงชั่วคราว หลายๆแหล่งข่าวเริ่มออกมายืนยันถึงการเสียชีวิตของเธอ มีรายงานว่า โฮโนกะ ฆ่าตัวตายเพราะเธอถูกประธานของบริษัท Enoha Girls หักหลังใช้อำนาจละเมิด ทั้งเรื่องการทำงาน คิวงานและส่วนแบ่งค่าตัว จนเธอทนไม่ไหวต้องจบชีวิตตัวเองลง
วัฒนธรรมไอดอลของญี่ปุ่นมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ไอดอลใต้ดินวงเล็กเมื่อเทียบกับวงใหญ่แล้วมีโอกาสที่จะโดนทิ้งไว้ข้างหลังมากกว่า ไหนจะปัญหาการใช้งานเมมเบอร์ที่หนักเกินไป เงินเดือนน้อย หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาไปกับงานมากเกินไปเพียงเพื่อจะเพิ่มฐานแฟนคลับให้มากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กวัยรุ่น
5 อย่า 3 ควร…เมื่อพบใครกำลังคิดสั้น
กรมสุขภาพจิต เปิดเผยตัวเลขการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลกประจำปี 2018 โดย World Population Review เก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายใน 177 ประเทศ ประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่ 28 มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 16 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงที่สุดในอาเซียน
หลักสำคัญของผู้ที่พบเห็นใครที่กำลังคิดสั้น คือ หลัก 5 อย่าทำ เมื่อเห็นคนไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย
อย่าที่ 1 คือ อย่าท้าทาย เช่น ทำเลย กล้าทำหรือเปล่า ไม่แน่จริง
อย่าที่ 2 คือ อย่าใช้คำพูดเยาะเย้ย ตำหนิ ด่าว่า เช่น โง่ บ้า หรือคอมเมนต์ว่าเขาเรียกร้องความสนใจ เพราะจะยิ่งเพิ่มโอกาสทำมากยิ่งขึ้น
อย่าที่ 3 คือ อย่านิ่งเฉย การนิ่งเสมือนเป็นการสนับสนุนทางอ้อม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เข้าระงับเหตุได้ หรือติดต่อญาติ
อย่าที่ 4 คือ อย่าแชร์หรือบอกต่อ หรือเผยแพร่แชร์ต่อภาพการกระทำของบุคคลนั้น
อย่าที่ 5 คือ อย่าติดตามการถ่ายทอดสดมากเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ดูเอง เช่น เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เก็บไปเป็นความเครียดฝังใจ
มีสิ่งที่ควรทำ 3 ควร เมื่อเห็นคนไลฟ์ทำร้ายตัวเอง หรือกำลังจะฆ่าตัวตาย
1. ควรห้าม หรือขอให้หยุดพฤติกรรม เพราะผู้ที่คิดสั้นส่วนใหญ่จะลังเลใจ
2. ควรชวนคุย ประวิงเวลา ให้มีโอกาสทบทวน
3. ควรรีบติดต่อความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันรีบให้หาวิธีแจ้งข่าวญาติๆ หรือเจ้าหน้าที่เข้าระงับเหตุ หากผ่านพ้นวิกฤติมาได้แนะนำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง โทร 191 สถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้เข้าสู่ระบบบริการโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย