สวนลุมพินี 27 ต.ค.- มูลนิธิเพื่อนหญิง จัดงาน “Men For Change ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” ยื่น 4 ข้อเสนอกระตุ้น ผู้ชายลุกขึ้นสร้างสังคมปลอดภัยให้ผู้หญิงมากขึ้น
มูลนิธิเพื่อนหญิงร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์สตรี จัดงาน “Men For Change ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง” เนื่องในโอกาสวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันสตรีสากล เเละวันที่ 25 พ.ย.เป็นวันยุติความรุนเเรงต่อผู้หญิงสากล เพื่อให้กระตุ้น กลุ่มผู้ชาย เข้ามา มีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัย สำหรับผู้หญิงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานด้านผู้หญิงทำงานอย่างเดียวคงไม่เพียงพอกับการช่วยลดความรุนเเรงต่อผู้หญิง ที่ปัจจุบันมีผู้หญิงถูกทำร้ายมากขึ้น โดยเเต่ละวันมีผู้หญิงไม่น้อยกว่า 7 คน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ได้รับความรุนเเรงต่อกายเเละจิตใจ เเละมีการเเจ้งความร้องทุกข์สูงถึงปีละ 30,000 คน
ขณะเดียวกันจากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิตั้งเเต่ปี 2560-2561 กับผู้หญิง 1,564 คน พบว่าร้อยละ 80 เผชิญความรุนเเรงในครอบครัว ถูกทุบตีเเละร้อยละ 20 ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดย 5 พฤติกรรมที่ผู้ชายชอบใช้ความรุนเเรงต่อผู้หญิงคือร้อยละ 85 ด่าทอเหยียดเพศ ร้อยละ 75 ชอบดื่มสุรา-เสพยาเสพติดจนมาทุบตีทำร้าย เเละล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 32 ผู้ชายไม่ยอมเลิกราตามคุกคามข่มขู่ ร้อยละ 28 ผู้หญิงร้องทุกข์พฤติกรรมของผู้ชายในที่ทำงาน คุกคามทางเพศทางสายตา เเละร้อยละ 21 ของผู้หญิงเจอหัวหน้างานเเละเพื่อนร่วมงานมักหาโอกาสลวนลาม โดยผู้ชายส่วนใหญ่มีทัศนคติคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ เป็นเจ้าชีวิต ผู้หญิงเป็นสมบัติส่วนตัว ไม่ให้เกียรติเเละไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว
นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า มูลนิธิฯขอยื่นข้อเรียกร้องให้ผู้ชายทุกกลุ่มมีส่วนร่วมรับผิดชอบ สร้างสังคมปลอดภัยสำหรับผู้หญิง รัฐต้องมีมาตราการ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้ผู้ชายมีพฤติกรรมรุนแรง ทั้ง เหล้าและบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำร้ายผู้หญิงทั้งร่างกาย จิตใจ ยกระดับกลไกของรัฐที่คุ้มครองสิทธิให้กับผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนเเรงให้มีคุณภาพเเละเพียงพอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมีการทำงานเชิงป้องกัน ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุ
ด้านMr.Staffan Herrstromเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ (27 ต.ค.)มาเป็นตัวเเทนของสหภาพยุโรปที่อยากมาสนับสนุนเรื่องผู้หญิง ในโลกนี้มีผู้หญิง 1 ใน 3 ที่ได้รับความรุนแรง ขณะที่ในไทยพบกว่าร้อยละ 34.3 ถึงเวลาเเล้วที่ผู้ชายต้องเปลี่ยนเเปลงเเเละต่อต้านความรุนเเรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ทำให้ความรุนเเรงน้อยลง ผู้หญิงควรมีความมั่นใจที่จะออกจากบ้านเเล้วจะได้รับความปลอดภัย
ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก อาจารย์มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ความเเตกต่างทางวัฒนธรรมและพื้นฐานทางสังคมจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กฎหมายออกมาในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ที่ส่งผลต่อการตระหนักในเรื่องผู้หญิง อย่างไทย วัฒนธรรมสังคมยอมปล่อยให้ผ่านไปได้ หากจะเเก้กฎหมายต้องไปปรับวัฒนธรรมก่อนจะไปออกกฎหมาย ชายต้องปรับทัศนคติ มองผู้หญิงมีความเปราะบาง เเละเเตกต่างจากผู้หญิง นอกจากจะให้ผู้ชายปรับทัศนคติเเล้ว ผู้หญิงบางกลุ่มก็ต้องปรับทัศนคติด้วย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงไปในทิศทางเดียวกัน.-สำนักข่าวไทย