กรุงเทพฯ 20 ต.ค.- การบินไทยตั้งคณะกรรมการสอบ และออกมาขอโทษกรณีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของเที่ยวบิน ทีจี971 เส้นทาง ซูริก – กรุงเทพฯ ดีเลย์กว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เพราะที่นั่งของนักบินที่จะโดยสารไปด้วยไม่ได้นั่งชั้นเฟิร์สคลาส ทำผู้โดยสารรอกว่า 300 คน กระทั่งมีผู้โดยสาร 2 คนยอมสละที่นั่งให้
จากกรณีที่มีใช้เฟซบุ๊กชื่อ Yuwaree Pankla โพสต์ข้อความ เรื่องความล่าช้าของเที่ยวบิน ทีจี 971 เส้นทาง ซูริก – กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 โดยระบุว่า “เห็นพี่ผิวพูดเรื่องการบินล่าช้าเลยขอระบายอารมณ์บ้าง วันก่อนเดินทางกลับบ้านเที่ยวบิน TG971 (ZRH – BKK) มีกําหนดการบินออกจากนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวลา 13.30 CEST แต่ได้รับการประกาศจากภาคพื้นดินว่ามีการล่าช้ากว่ากําหนดและไม่มีกําหนดการบินที่ชัดเจน จนกระทั่งเวลา 15.00 CEST มีเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินประกาศเชิญเราและสามีมาคุย จึงได้ทราบถึงปัญหาของความล่าช้าของเที่ยวบินนี้ เนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีคณะนักบินที่ต้องการจะโดยสาร เครื่องบินเที่ยวบินนี้กลับประเทศไทยด้วย จํานวน 4 คน และนักบินต้องการที่นั่งในตําแหน่งที่เราและสามีได้ทําการจองมานานแล้วคือ 1K, 2K จึงเป็นสาเหตุที่ทําให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินมาขอร้องให้เราเปลี่ยนที่นั่งไปนั่งที่อื่น เพราะไปขอผู้โดยสารท่านอื่นแล้วไม่มีใครยอมให้ และได้รับแจ้งว่าถ้าเราไม่ยอมเปลี่ยนที่ นักบินประจําเครื่องก็จะไม่ยอมบิน เราจึงยอมเปลี่ยนที่นั่งที่จองไว้ตั้งแต่เริ่มต้นที่ซื้อตั๋ว จากเหตุการณ์นี้เรารู้สึกประหลาดใจต่อการกระทําของกลุ่มนักบิน ทั้งผู้ขอโดยสาร และผู้ทําการบิน ซึ่งควรเป็นผู้ให้บริการแต่กลับยึดถือการบริการตนเองและพวกพ้องก่อนโดยไม่คํานึงถึงจิตใจของผู้โดยสาร ประหนึ่งเอาผู้โดยสารเป็นตัวประกันเพื่อแลกกับความต้องการของตนเอง ทั้งที่ที่นั่งชั้นธุรกิจก็ยังมีที่ว่างอยู่อีกหลายที่เพียงแต่ไม่ตรงตามความต้องการของตนเอง
หลังโพสต์ออกไปก็มีการแชร์และแสดงความเห็นรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่าทำแบบนี้ยิ่งเสียภาพลักษณ์ของสายการบิน และไม่คาดคิดเลยว่า เรื่องราวแบบนี้ จะมาเกิดขึ้นกับสายการบินระดับประเทศยิ่งนับวันยิ่งไม่แปลกใจที่องค์กรขาดทุนและไม่มีกำไร
ล่าสุด นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในฐานะผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร จึงได้สั่งการให้เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามระเบียบของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต
“ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ทำให้ทุกท่านได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความล่าช้า และขอโทษท่านผู้โดยสารที่ได้ผลกระทบโดยตรงจากการย้ายที่นั่ง ขอน้อมรับผิดต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขณะนี้ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดมาตรการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต” นายสุเมธ กล่าว
สำนักข่าวไทยตรวจสอบข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญในวงการนักบิน เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุ นักบินจำนวน 4 คน ที่ต้องทำการบินจากซูริก มายังกรุงเทพฯ ในเครื่องบินโบอิ้ง 777 ซึ่งมีการจัดลำดับที่นั่งเป็น บิสซิเนสคลาส และอีโคโนมีคลาส ไม่มีเฟิร์สคลาส แต่ว่ามีการเปลี่ยนเครื่องบิน เป็นโบอิ้ง 747 ซึ่งเครื่องรุ่นนี้มีชั้นเฟิร์สคลาสด้วย จึงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าผู้โดยสารที่ร้องเรียนเข้ามานั้นมีการจองที่นั่งในลำดับชั้นใดเป็นเฟิร์สคลาส หรือบิสซิเนสคลาส
อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Sanong Mingchareon ซึ่งเป็นกัปตันและดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักบินไทย ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงว่า “ถ้าเราถอยมากๆ วันหนึ่งเราจะไม่มีที่ให้ยืน” ด้วยความที่เป็นคนประนีประนอม ผมจึงไม่ค่อยเชื่อคำเตือนของกัปตันรุ่นพี่ๆ ประโยคนี้ซักเท่าไหร่ และยอมเป็นฝ่ายถอยมาตลอด วันนี้ผมแต่งตัวออกจากบ้านไปทำงานตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็เกือบสี่ทุ่ม ลูกๆ จึงหลับหมดแล้ว อาบน้ำเสร็จก็ตั้งใจว่า จะเข้านอนเลยเพราะพรุ่งนี้มีนัดตอน 8 โมงเช้า แต่มาสะดุดตากับข่าวที่โจมตีเพื่อนร่วมอาชีพกรณีเที่ยวบิน TG971 แล้วมันหลับไม่ลง เพราะรู้สึกว่า นักบินถูกกล่าวหา ถูกวิจารณ์ในทางเสียหาย โดยข้อมูลด้านเดียว และไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเที่ยวบินที่เกิดปัญหาข้อเท็จจริงต่างๆ น่าจะต้องรอผลสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการตัดสิน หรือนำข้อมูลออกไปสู่สื่อสาธารณะ มีประเด็นหนึ่งที่เพื่อนหลายคนสงสัยว่าทำไม กัปตันการบินไทยถึงต้องเดินทางในชั้น First class การที่กัปตันการบินไทย ได้เดินทางในชั้น First class เนื่องจากเป็นสิทธิที่ได้รับตามเงื่อนไขที่บริษัทตกลงว่าจ้าง แต่ต่อมาภายหลังมีการตัดสิทธิ์ ในกรณีเดินทางไปทำงานให้บริษัท โดยจะสำรองที่นั่งในชั้นธุรกิจแทน ยกเว้นกรณีที่นั่งในชั้น First class ว่าง จึงจะได้ไปนั่ง โดยเขายังบอกอีกว่า แม้ว่าจะรู้สึกเสียสิทธิที่เคยมี แต่ทุกคนก็ยอมเสียสละเพื่อให้บริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วในชั้น First class มาถึงวันนี้ เกิดกรณีที่แม้ไม่มีผู้โดยสาร First class กัปตันก็ไม่ได้ถูกสำรองที่นั่งให้ตามสิทธิที่มี ซ้ำร้ายต้องกลายเป็นจำเลยสังคม.-สำนักข่าวไทย