สธ.19 ต.ค.- 3 หน่วยงาน ร่วมต่อยอดงานวิจัยภูมิคุ้มกันรักษาโรคมะเร็ง เร่งอีก 4 ปี เริ่มทดลองในคน ชวนคนไทยร่วมบริจาคเป็นเจ้าของผลงานวิจัยเพื่อรักษามะเร็งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แถลงความร่วมมือกับศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.พญ.ณัฎฐิยา หิรัญกาญจน์หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการต่อยอดวิจัยไทยผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันมนุษย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในการทดลองเฟสแรกกำลังก้าวเข้าสู่เฟส 2 โดยที่ผ่านมาทางจุฬาฯได้ลงทุนในการศึกษาวิจัยไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท
นพ.นพพร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อต่อยอดงานวิจัยเป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะเจาะจงหรือที่เรียกว่าการแพทย์แม่นยำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการแพทย์แบบใหม่ที่จะทำให้เกิดการรักษาตรงจุดพุ่งเป้า โดยเฉพาะเรื่องของโรคมะเร็งซึ่งคาดว่าอีก 30 ปีแห่งหน้าประเทศไทยอาจมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากแต่ละปีประเทศไทยต้องหมดไปกับค่ายาถึง 150,000 ล้านบาทในการรักษาโรค และครึ่งหนึ่งเป็นยามะเร็ง โดยทางสวรส. จะให้เงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา 10 ล้านบาท
ศ.พญ.ณัฎฐิยา กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการศึกษาวิจัยและพัฒนาใช้ภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งเป็นการต่อยอดงานวิจัยต้นแบบ ศ.ทาสุกุ ฮอนโจ ผู้ที่รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2018 ใช้ยาที่สร้างจากภูมิคุ้มกันรักษาโรคมะเร็งได้ถึง 15 ชนิด ยับยั้งและกำจัดมะเร็งบนภูมิคุ้มกันของมนุษย์
ในส่วนของการศึกษาวิจัยของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ได้ผ่านการทดลองเฟส 1 ในการหาต้นแบบของแอนติบอดีได้แล้วอยู่ระหว่างการพัฒนาและเริ่มการศึกษาเฟส 2 คาดว่าใช้ระยะเวลาอีก 4 ปี จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการทดลองในมนุษย์ได้
ทั้งนี้กระบวนการศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นการนำผลของแอนติบอดีไปใช้ในการกำจัดเซลล์ที่เกาะอยู่บนเม็ดเลือดขาว ซึ่งในต่างประเทศพบว่ามีการผลิตยาในรูปแบบใช้ภูมิคุ้มกันโรครักษามะเร็งแล้วและให้ผลดีในกลุ่มของมะเร็งปอดและมะเร็งผิวหนัง แต่มีราคาแพงหลอดละ 200,000 บาทซึ่งหากใครผลิตได้เองจะทำให้ต้นทุนและราคาลดลงเหลือเพียง 20,000 บาทต่อหลอดเท่านั้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับมอบช่วงต่อในการดูแลการทดลองทางคลินิก และให้เงินทุนสนับสนุน 3 ล้านบาทเพื่อขยาย และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพซึ่งจุดประสงค์หลักในอนาคตของการรักษาโรคมุ่งเน้นการตรวจลึกถึงระดับดีเอ็นเอและจีโนมซึ่งต่อไปจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวินิจฉัยโรคและทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวเห็นผลต่อการรักษาอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
การช่วยเหลือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทย์ฯจุฬาลงกรณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการร่วมกันแบบประชารัฐและยังมุ่งหวังให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวิจัยต่อยอดและเป็นเจ้าของงานวิจัยร่วมกัน
ทั้งนี้ประชาชนหากต้องการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์สามารถสมทบทุนได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถได้ที่ เลขบัญชี. 408-004443-4 ชื่อบัญชีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(เงินบริจาคเพื่องานวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาสภากาชาดไทย โดยเงินทุกบาทที่นำมาช่วยเหลือในครั้งนี้สามารถนำใบเสร็จหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า.-สำนักข่าวไทย