กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – GPSC เตรียมยื่นอุทธรณ์ หลัง กกพ.ห้ามซื้อหุ้น GLOW ยืนยันทำตามระเบียบถูกต้อง พร้อมรักษาสิทธิ์ผู้ถือหุ้น
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีไม่อนุมัติซื้อหุ้น บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เพื่อรักษาสิทธิผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ขณะที่ยังมองเห็นถึงความสำคัญในการซื้อกิจการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและภาคอุตสาหกรรม
“เมื่อวานนี้บอร์ดพิจารณาปกติ เนื่องจากเป็นบริษัทจดทะเบียนต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ในหนังสือที่ กกพ.แจ้งว่ามีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน โดยหน้าที่ต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ถือหุ้น ก็จะใช้สิทธิ์ตรงนั้น เนื้อหารายละเอียดยังไม่ทราบ จะหารือกันต่อไป” นายชวลิต กล่าว
สำหรับการยื่นอุทธรณ์อาจทำให้ระยะเวลาการซื้อกิจการ GLOW ล่าช้านั้น นายชวลิต กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นเงื่อนไขข้อตกลงเดิมที่ทำไว้กับกลุ่ม Engie Global Development B.V. (Engie) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW และไม่ได้เป็นปัญหาต่อสัญญาการกู้เงินเพื่อรองรับการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหารือกับทุกฝ่ายให้เข้าใจสถานการณ์แล้ว
ส่วนกรณีหาก กกพ.ยกคำอุทธรณ์ดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการอย่างไรนั้น นายชวลิต กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะจะต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนไป แต่เบื้องต้นการพิจารณาคำอุทธรณ์ของ กกพ.ไม่ได้มีระเบียบกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่คาดว่าไม่น่าจะช้ากว่า 30 วัน ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติตามขั้นตอนราชการทั่วไป
ทั้งนี้ GPSC มีแผนซื้อกิจการ GLOW 140,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อหุ้นจากกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW สัดส่วนร้อยละ 69.11 วงเงินรวม 95,900 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะเสร็จเดือนตุลาคม หากได้รับอนุมัติจาก กกพ. หลังจากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป โดยภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มเพิ่มเป็นประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 6.9 ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กกพ.มีมติเอกฉันท์ไม่อนุมัติคำขอเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน GLOW เนื่องจากจะลดการแข่งขันการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพราะการรวมกิจการครั้งนี้จะส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมบางพื้นที่จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว จึงเป็นการลดการแข่งขัน ขณะที่การให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้ากลุ่ม GLOW ได้ เนื่องจากเหตุผลทางคุณภาพ.-สำนักข่าวไทย