กทม. 16 ต.ค. – การตีเด็ก คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้ทุกครอบครัว แต่ใครจะรู้ว่าการตีเด็กไม่ว่ารูปแบบไหนที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ถือว่าผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก
ข่าวเด็กถูกทำร้ายร่ายกายโดยคนในครอบครัวเกิดต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลจากบ้านพักเด็กและครอบครัว พบ 1 ปีที่ผ่านมา มีเด็กถูกทำร้ายร่างกาย-ทารุณกรรมแล้วไม่ต่ำกว่า 8,809 คน ส่วนใหญ่กว่าจะได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองก็ถูกทำร้ายจนสาหัส บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างเช่นเด็กชายวัย 14 ปี ที่ถูกแม่เลี้ยงทำร้ายอย่างทารุณมานานกว่า 7 ปี สาเหตุที่เด็กถูกทำร้ายเพราะผู้ใหญ่ควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้ และมาจากความเชื่อเดิมที่ว่า “รักวัวให้ผู้กรักลูกให้ตี” ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือเด็ก พ่อแม่เป็นเจ้าของชีวิตลูก
นักกฎหมายด้านสิทธิเด็ก ระบุว่า แม้กฎหมายไทยไม่ชี้ชัดว่าตีแบบไหนเข้าข่ายผิด แต่ก็ไม่เคยอนุญาตให้ตีเด็กได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ให้อำนาจผู้ปกครองทำโทษได้ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก มาตรา 4 ระบุว่า เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส การทารุณกรรม หมายถึง การกระทำที่ทำให้เด็กเสื่อมเสียเสรีภาพ เกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรือจิตใจ โดยมาตรา 26 ระบุว่าหากผู้ใดกระทำทารุณกรรมต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก ละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือรักษาพยาบาล บังคับขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริมให้เด็กประพฤติไม่สมควร มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การทำร้ายร่างกาย ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดหากปล่อยไว้ เพราะไม่เพียงบอบช้ำแค่ร่างกาย แต่ส่งผลต่อจิตใจ ท้ายที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองทันท่วงที สังคมควรสอดส่องดูแล หากพบเห็นพฤติกรรมทำร้าย เช่น ตบหัว บิดหู หรือแม้แต่กระทำความรุนแรง อย่านิ่งเฉย โทรแจ้งที่สายด่วน 1300
ตีเพื่อสั่งสอน ไม่ใช่ข้ออ้างของผู้ใหญ่ที่จะใช้ทำร้ายเด็ก เพราะความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่การเลี้ยงดูเด็กให้สมวัย ด้วยเหตุและผล ท่ามกลางความรักความผูกพัน คือสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต. – สำนักข่าวไทย