กระทรวงการต่างประเทศ 4 ต.ค.-รมว.ต่างประเทศ เตรียมร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 8-9 ต.ค.นี้ เพื่อกำหนดทิศทางของกรอบความร่วมมือในอนาคตให้สอดคล้องกับ 3 แนวทางหลัก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมในคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 (10th Mekong- Japan Summit) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2561 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
น.ส.บุษฎี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจากในปีนี้ จะครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น โดยผู้นำจะให้การรับรองยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ.2018 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Tokyo Strategy 2018 for Mekong – Japan Cooperation) ซึ่งจะถูกนำมาใช้แทนยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ.2015 ที่จะหมดวาระลงในปีนี้ ซึ่งได้กำหนดทิศทางของกรอบความร่วมมือในอนาคตให้สอดคล้องกับ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo – Pacific Strategy) 2.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และ 3.แผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่แผนแม่บท ACMECS ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระหว่างประเทศ
น.ส.บุษฎี กล่าวอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ.2018 ได้กำหนดเสาความร่วมมือ 3 เสา ได้แก่ การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการสร้างความตระหนักรู้ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว พร้อมทั้งกับการให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิภาคและโลกที่ส่งผลต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงและผลประโยชน์ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น อาทิ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี พัฒนาการในทะเลจีนใต้ และให้ความสำคัญต่อการเพิกถอนการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ การดำเนินการตามพันธกิจแห่งสหประชาชาติ เพื่อก่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในภูมิภาคและในโลก อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น การหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น การพบหารือกับสมาชิกสมาคมมิตรภาพรัฐสภาญี่ปุ่น-แม่โขง และผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นรวมทั้ง เข้าร่วมงานสัมมนา Mekong- Japan Investment Forum โดย JETRO และการพบหารือกับองค์กรและภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนญี่ปุ่น เพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะประเทศหุ้นส่วนในการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป
“กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong – Japan Cooperation) ริเริ่มขึ้น โดยญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2551 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศลุ่มน้ำโขง ลดช่องว่างในการพัฒนาในอาเซียนและสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างราบรื่น ไทยมีบทบาทในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและประเทศผู้ให้ร่วมกับญี่ปุ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคี และในโอกาสครบรอบ 10 ปีของกรอบความร่วมมือในปีนี้ จะกำหนดให้ปี ค.ศ.2019 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่นกับลุ่มน้ำโขง 2019 (Mekong-Japan Exchange Year 2019) โดยสมาชิกจะจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น และในส่วนของไทยจะใช้โอกาสในการจัดการประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ 6 ที่ประทศไทยในการร่วมฉลองวาระดังกล่าวด้วย” น.ส.บุษฎี กล่าว.-สำนักข่าวไทย