กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – ธปท.ยืนยันผลกระทบที่มีกับนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นปัจจัยระยะสั้น แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนสิงหาคมจะลดลงถึงร้อยละ 11.8 คงเป้านักท่องเที่ยวของไทยปีนี้ 38.3 ล้านคน
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับการจับตา เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตจนถึงการทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวจีนที่สนามบินดอนเมือง รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวปรับตัวลดลง โดยในส่วนของ ธปท.เห็นว่าแม้ตัวเลขเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีน 867,461 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีนักท่องเที่ยว 983,212 คน หรือลดลงร้อยละ 11.8
อย่างไรก็ตาม ธปท.เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบระยะสั้น และขณะนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งทำตลาดในจีนและการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าคาดการณ์ไว้ในไตรมาส 2 ชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ธปท.จึงจะยังคงประมาณการณ์ปี 2561 ไทยจะยังคงมีนักท่องเที่ยว 38.3 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่น ทำให้ไทยมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40.6 ล้านคน
ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องร้อยละ 4.4 และร้อยละ 4.2 ในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่การส่งออกแนวโน้มดีตามอุปสงค์โลก ส่วนหนึ่งมีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ขณะที่การส่งออกปี 2562 ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อปี 2562 มีทิศทางเพิ่มขึ้นเท่ากับประเมินไว้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประมาณเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 และ 2562 เท่ากันที่ร้อยละ 1.1
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงด้านลบ ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนนโนยบายการค้าสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า ที่ยังมีอยู่ ความขัดแย้งและปัญหาเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่กระจายตัวเต็มที่อาจส่งผลให้การบริโภคขยายตัวน้อยกว่าที่คาด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กนง.มีผลตัดสินนโยบายการเงินและกำหนดแนวทางดำเนินงาน มีมติ 6 ต่อ 1 วันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาให้คงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.5 ต่อปี รวมทั้งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่องและเงินเฟ้อสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากระดับปัจจุบันจะเริ่มทยอยลดลง ดังนั้น ในอนาคตจะประเมินและแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย