สธ. 27 ก.ย. – สาธารณสุขฉุกเฉิน แจง เหตุร้องรพ.ถามหาบัตรประชาชนรักษาช้า มาจากสื่อสารบกพร่อง ยืนยัน เริ่มการรักษาทันที ที่ผู้ป่วยถึง รพ. ทั้งตรวจแผล ให้สารน้ำ ซีทีสแกนสมอง เหตุถามหาบัตร เพราะต้องส่งต่อ รักษารพ.ชลบุรี
นพ.วิฑูรย์ อนันกุล ผอ.การกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีญาติคนไข้โวย รพ.ถามหาบัตรประชาชนทำให้การรักษาล่าช้า ว่า จากการตรวจสอบ ยอมรับว่าเป็นเรื่องของการบกพร่องในการสื่อสาร ยืนยันมีการรักษาทันทีเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลบางละมุง ไม่ได้มีการถามหาแต่บัตรประจำตัวประชาชนอย่างเดียว โดยคนไข้รายนี้มาถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. เมื่อมาถึงแพทย์ได้ดูอาการพบว่า อยู่ในขั้นของผู้ป่วยสีเหลือง ไม่วิกฤตรุนแรง เนื่องจากความดันแม้สูง 201/105 แต่รูม่านตายังไม่ขยาย แพทย์ทำการส่งตัวซีทีสแกนสมอง ในเวลา 22.00 น. มีการให้สารน้ำ และออกซิเจน เพียงแต่ต้องรอผลการซีทีสแกนสมองที่ใช้เวลานาน คาดว่าญาติมาเห็นผู้ป่วยช่วงรอผลการตรวจสมอง ซึ่งต้องรอผู้เชี่ยวชาญอ่านอาจใช้เวลานาน และได้มีการส่งตัวเพื่อผ่าตัดรักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี ในเวลา 01.00 น. เนื่องจาก ผลซีทีสแกนสมอง พบว่า มีเลือดออกที่เยื่อหุ้มใต้สมอง
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า การถามหาบัตรประชาชนของแพทย์นั้น เนื่องจาก ต้องมีการส่งตัวผู้ป่วยไปซีทีสแกนสมอง และดำเนินการเรื่องส่งต่อ ปกติจะดำเนินการควบคู่กับการรักษาอยู่แล้ว เข้าใจว่าขั้นตอนการรักษาได้ทำแล้ว เหลือแค่ ข้อมูลบัตรประชาชน เนื่องจาก จะทราบประวัติผู้ป่วย และง่ายต่อการส่งต่อ ไม่ได้รอถามหาบัตรแล้วไม่ดำเนินการรักษา จึงเชื่อว่าเป็นความเข้าใจผิด
“เข้าใจว่าญาติผู้ป่วยตกใจ และห่วงคนไข้ โดยปกติทุกคนเมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็คิดอยู่แล้ว ว่าตนเองและครอบครัวมีอาการหนัก และอยากได้รับบริการที่เร็ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสื่อสาร จะต้องมีการกำชับให้สื่อสารกับญาติมากขึ้น” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า โดยทั่วไป คนไข้ ที่มารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน จะเป็นผู้ป่วยทีมีภาวะวิกฤตจริง ร้อยละ 10 แต่อีกร้อยละ 60 ไม่ใช่เจ็บป่วยฉุกเฉิน นิยามของคำว่าฉุกเฉิน ของผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ ก็แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อการบริการที่รวดเร็ว โดยคนทั่วไป ที่มีอาการเจ็บป่วย ข่ายเข้าฉุกเฉินวิกฤต มีความจำเป็น ต้องได้รับการช่วยเหลือ และกู้ชีพ ทันที ได้แก่
1.หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้นไม่มีชีพจร
2. การรับรู้และสติเปลี่ยนไป บอกเวลาสถานที่ผิดไป
3.ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจลึกเร็ว และแรง ออกเสียงไม่ได้ มีการสำลัก
4 .ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤต ตัวเย็น ซีด เหงื่อแตกท่วม หมดสติ
5 อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก และ 6.มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เจ็บหน้าอก หรือ แขนขาอ่อนแรง
โดยการแยกภาวะวิกฤตฉุกเฉินจำเป็นต่อการกู้ชีพกับฉุกเฉินรักษา จำเป็น ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะในห้องฉุกเฉินเองก็มีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 ประเภท เขียว เหลือง แดง โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดง จะได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันที และมีการกำหนดมาตรฐาน ว่า ระหว่างการรักษา รักษาส่งต่อผุ้ป่วย กรณีต้องรับการผ่าตัดต้องทำใน 2 ชม. แรก และหากเป็นรพ.ในพื้นที่ห่างไกลต้องพยายามส่งต่อให้รวดเร็ว และมีความปลอดภัยภายใน2-3 ชม ในรพ.ที่ใกล้ที่สุด .-สำนักข่าวไทย