เมืองทองฯ 27 ก.ย.- “ณัฏฐ์” กำชับ ผู้ว่าฯ- นายอำเภอ จัดเตรียมสถานที่ลงคะแนน ส.ว.ระดับอำเภอให้พร้อม หวั่นถูกร้องเรียนภายหลัง เผยมีระบบตรวจสอบผู้สมัครซ้ำซ้อน จะขาดคุณสมบัติทันทีเตือนสื่อระวังการนำเสนอ
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวชี้แจงรายละเอียดการเตรียมความพร้อมการได้มาซึ่ง ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส. ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย ทั่วประเทศ ว่า ได้กำชับ ในเรื่องการสถานที่ลงคะแนนคัดเลือก ส.ว. ว่าให้ระวังเรื่องการจราจร เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไข ให้ผู้สมัครรับการสรรหานำมาร้องในภายหลังว่าไม่สามารถมาลงคะแนนได้ทันเพราะติดขัดในเรื่องปัญหาจราจร โดยเฉพาะการมารายงานตัวไม่ทันกับเวลาที่กำหนด เพราะจะถูกตัดสิทธิ์ทันที และในส่วนของสถานที่จะต้องโอ่โถง สามารถบรรจุผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ ซึ่งขอให้พิจารณาโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนการสมัครให้หาสถานที่ที่อยู่ติดกับห้องทะเบียนอำเภอ เพราะว่าผู้สมัครสามารถนำบัตรประชาชน ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ เครื่องอ่านบัตรก็จะพิมพ์เอกสารประวัติของบุคคลนั้นออกมา และให้แนบกับเอกสารขององค์กรที่ส่งสมัคร
นายณัฏฐ์ กล่าวว่าในระหว่างการลงคะแนนอย่าให้ผู้สมัครกลับก่อน และจะต้องรอให้การนับคะแนนเสร็จสิ้น เพราะหากพบว่า มีผู้สมัครได้ศูนย์คะแนน เกิน ร้อยละ 10 ของจำนวนผู้สมัคร แสดงว่ามีการฮั้ว ดังนั้นต้องมีการลงคะแนนใหม่ แต่หากพบว่าในอำเภอใดมีผู้สมัครในกลุ่มจังหวัด ไม่เกิน 3 คน ให้ถือว่า 3 คน นั้นจะได้รับการคัดเลือก โดยไม่ต้องลงคะแนน พร้อมกันนี้ในส่วนของวันลงคะแนน ให้ผู้สมัครมารายงานตัวตั้งแต่เวลา 08.00 – 09.00 น. จากนั้นในเวลา 09.00 น. ให้ประธานคณะกรรมการชี้แจงแนวทางการคัดเลือก โดยขอให้แต่ละจังหวัดจัดสถานที่ให้พร้อม เบื้องต้นตนได้ทดลองการลงคะแนนว่า ใน 1 ชั่วโมงควรจะลงคะแนนให้ได้ 100 คน เพราะในกรณีของจังหวัดใหญ่อาจะมีปัญหาถ้าที่ผู้สมัครจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ทาง กกต.จะเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ แต่ กทม. ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีการซักซ้อมไปบ้างแล้ว
รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า สำหรับการส่งผู้สมัครขององค์กรต่าง ๆ จะต้องส่งผู้สมัครที่เกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพนั้น ๆ และส่งได้อำเภอละ 1 คน โดยผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อในนามองค์กรแล้ว จะไม่สามารถไปสมัครในนามอิสระ หรือไปลงในอำเภออื่น ๆ อีก และ กกต.มีระบบที่จะตรวจสอบ ซึ่งหากมีบุคคลผู้นั้นจะขาดคุณสมบัติทันที ส.ว. 250 คน ถือว่าสำคัญ เพราะไม่เพียงเป็นผู้พิจารณากฎหมาย แต่ยังเป็นผู้มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี
นายณัฏฐ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีต้องเก็บข้อมูลเพื่อเอาผิดหากมีการร้องเรียนว่า กฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องเก็บข้อมูลที่เข้าข่ายว่ากระทำผิดไว้ทั้งหมด โดยอนาคตหากมีคนร้อง ก็จะไปเอาข้อมูลนั้นมาสืบสวน ไต่สวนตามกระบวนการของ กกต. จากนั้นก็จะมีการเสนอให้ กกต.พิจารณา หากเห็นว่ามีความผิดจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งก็อาจจะเป็นศาลฏีกา โดยทางศาลจะเป็นผู้กำหนดว่าจะให้แผนกคดีใดเป็นผู้พิจารณา อาจเป็นคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทากการเมืองก็ได้ ซึ่งเรื่องการดูด ส.ส. ตามกฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า ไม่ให้มีการเสนอให้ทรัพย์สินหรือเงินทองเพื่อแลกกับการให้มาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากมีการดำเนินการก็เป็นโทษ และหากเป็นการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรค มีโทษถึงยุบพรรค
รองเลขาธิการ กกต. กล่าวเตือนสื่อว่า ให้ระวังการทำข่าวและเสนอข่าว เกี่ยวกับการเลือกส.ว. โดยเฉพาะในช่วงการเปิดรับสมัคร ส.ว.ระดับอำเภอ ที่จะต้องรอให้ปิดรับสมัครก่อน จึงจะสามารถรายงานจำนวนได้ เพราะกฎหมายห้ามเปิดเผยเนื่องจากเกรงว่า จะทำให้ผู้สมัครรู้ว่ากลุ่มองค์กรใดยังจำนวนน้อยหรือมีใครสมัครในกลุ่มใดบ้าง อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ รวมทั้งไม่ควรไปสัมภาษณ์ผู้สมัคร หรือนำเสนอประวัติของผู้สมัคร เพราะกฎหมายห้ามผู้สมัครหาเสียง ทำได้เพียงแต่การแนะนำตัว ซึ่งผู้สมัครจะสามารถแนะนำตัวกันเองได้เท่านั้น และจะใช้โซเชียลแนะนำตัวเองไมได้ การที่กฎหมายไม่ให้หาเสียง เพราะผู้สมัคร ส.ว.จะต้องมีต้นทุนทางสังคมสูงมาก ไม่ใช่โนเนมแล้วจะมาสมัคร .-สำนักข่าวไทย