กรุงเทพ ฯ 26 ก.ย. – ธปท.-สมาคมธนาคารไทย
ขยายวงเงินโอนออนไลน์ด้วยเลขบัญชีฟรีสูงสุดไม่เกิน 700,000 บาท เพื่ออำนวยความสะดวก และลดการโอนหลายครั้ง
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนออนไลน์ แต่ยังคงจำกัดการโอนเงินผ่านเลขบัญชีอยู่ที่
50,000 บาทต่อครั้ง
ดังนั้น เพื่อให้การโอนเงินมีความสะดวกและลดจำนวนการโอนหลายครั้ง เพื่อไม่เสียค่าธรรมเนียม
ธปท.จึงร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยขยายการโอนเงิน
“ผ่านเลขบัญชี” โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม จาก 50,000
บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 700,000 บาท ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถกำหนดความเสี่ยงของตนเองได้
โดยแจ้งวงเงินการโอนสูงสุดตามความต้องการ อาทิ กำหนดวงเงินโอนไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น
ซึ่งการขยายวงเงินโอนผ่านเลขบัญชีก็เพื่อให้สอดคล้องกับการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ฟรีค่าธรรมเนียมผ่านพร้อมเพย์วงเงินสูงสุดได้ครั้งละ
2 ล้านบาท โดยมีการกำหนดระยะเวลาถึงสิ้นปีนี้
แต่เนื่องการเเข่งขันในระบบที่มีอยู่สูง จึงเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการขยายระยะเวลาฟรีค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์ต่อไป
แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางธนาคารพิจารณา พร้อมกันนี้ ธปท.ได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยและบริษัท
เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (ITMX) ขจัดปัญหาคอขวดในการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง
โดยเฉพาะในช่วงสิ้นเดือน และให้สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมอย่างน้อย 2 เท่าของช่วงปริมาณธุรกรรมสูงสุด รวมถึงสร้าง Dash board ติดตามการทำงานของระบบ หากเกิดปัญหาจะได้แก้ไขอย่างรวดเร็ว
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า
ธปท.เตรียมเปิดให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิคส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล
หรือ Peer to Peer Lending Platform ซึ่งจะมีการเปิดให้ผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบการธุรกิจผ่าน ธปท.
และผู้สมัครทดสอบใน Sandbox เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สมัครมีโมเดลในการให้บริการที่เหมาะสม
หลังจากผ่านการทดสอบแล้ว ธปท.จะเสนอกระทรวงการคลังออกใบอนุญาต เพื่อดำเนินธุรกิจได้
โดยเบื้องต้นผู้ที่จะดำเนินธุรกิจดังกล่าวต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในไทย กำหนดทุนจดทะเบียน
5 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาการประกอบธุรกิจมีคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ
75 โดยผู้ให้กู้กำหนดให้เป็นบุคคลธรรมดา สามารถปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนผู้ให้กู้ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
( ก.ล.ต.) สามารถปล่อยกู้ได้ไม่จำกัดวงเงิน
เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจในเรื่องของการลงทุน กำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ
15 และผู้กู้ที่มีโครงการสามารถกู้ได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท
ซึ่งการปล่อยสินเชื่อแบบ Peer To Peer Lending Platform เหมาะสำหรับ
Start Up หรือ Fintech ที่เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ยาก
โดยหลักเกณฑ์ทั้งหมดทาง ธปท.จะเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ . – สำนักข่าวไทย