ตลท. 13 ก.ย. – คาดนักลงทุนจะตอบรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยมากกว่าที่คาด ประเมินผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล เน้นจัดสรรรายย่อย
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง เพื่อแก้ปัญหาจราจรและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรัฐบาล จึงได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF) เพื่อขายหน่วยลงทุนระดมเงินจากประชาชน นักลงทุน เพื่อนำเงินมาขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดย รัฐบาลได้นำทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาให้กองทุน TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรก จะเข้าลงทุนในสิทธิ์ในการรับรายได้ค่าผ่านทางพิเศษที่ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษ 2 เส้นทางที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี รวมระยะทาง 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันที่กองทุนเข้าทำสัญญากับ กทพ. โดย กทพ.ยังคงเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นเจ้าของทางพิเศษดังกล่าว
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. กล่าวว่า เงินที่ กทพ.ได้รับจากการโอนสิทธิ์ในรายได้ของทางพิเศษ 2 เส้นทาง กทพ.จะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 2.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า คาดว่ากองทุนนี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะจากนักลงทุนสถาบัน เพราะกองทุนนี้มีรายได้จากกระแสเงินสดเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจากการได้รับเงินปันผลที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน โดยประเมินผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล นโยบายจ่ายเงินปันผล 2 ครั้งต่อปี นักลงทุนรายย่อย (บุคคลธรรมดา) จะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนฯ 10 ปี
ส่วนการจัดสรรหน่วยลงทุนจะเน้นให้นักลงทุนรายย่อยใช้วิธีการจองซื้อแบบ Small Lot First ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปทุกรายตามจำนวนหน่วยจองซื้อขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรอบแรกและวนไปเรื่อย ๆ รอบละเท่ากันจนกว่าจะครบตามจำนวนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนที่สนใจมีสิทธิ์จองซื้อหน่วยลงทุนและได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางเป็นทรัพย์สินของ กทพ.ที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี โดยไม่เคยมีการปิดซ่อมบำรุงทั้งสายทางและมีรายได้สม่ำเสมอ ขณะเดียวกันคาดว่ากองทุน TFFIF จะได้รับประโยชน์จากปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 3 ปีของทางพิเศษทั้ง 2 เส้นทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และ การปรับอัตราค่าผ่านทางในอนาคต ตลอดจนการเข้าลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 คาดว่าจะนำหน่วยลงทุนของ TFFIF เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้.- สำนักข่าวไทย