รัฐสภา 13 ก.ย.-สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อจัดตั้งกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (13 ก.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอในวาระแรก โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญในการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะมีการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลางและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ซึ่งประธานกรรมการจะแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ให้ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงการคลังคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการ แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จะมีอำนาจและหน้าที่ในการเสนอนโยบาย หรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนที่จำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่พิจารณาการสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม จัดให้มีฐานข้อมูลของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ถูกต้อง ประเมินผลการดำเนินงานในการจัดประชารัฐสวัสดิการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งก่อนรายงานผลการประเมินต่อคณะรัฐมนตรี ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ออกประกาศระเบียบหรือคำสั่ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้กระทรวงการคลังออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการออกและการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการฯ กำหนด
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้จัดตั้งกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยกองทุนฯ จะประกอบด้วยจากการเงินโอนที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนฯ ในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลังตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2560 เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรจากงบประมาณรายจ่าย เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนฯ หรือที่กองทุนฯ ได้รับตามกฎหมายอื่น และดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนฯ ซึ่งไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า โดยเงินของกองทุนฯ จะใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก ตลอดจนการดำเนินงานและบริหารกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเงินกองทุนฯ ให้ฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง ปีบัญชีของกองทุนฯ ให้เป็นไปตามปีงบประมาณ ให้สำนักงานจัดทำรายงานการเงินของกองทุนฯ ส่งผู้สอบบัญชีภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน โดยให้ผู้สอบบัญชีของกองทุนฯ ทำรายงานการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการฯ ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี ให้คณะกรรมการฯ นำส่งรายงานการเงินพร้อมด้วยรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต่อกระทรวงการคลังภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชี พร้อมกันนี้ยังให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลังจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุนฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ยุบกองทุนฯ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ ก็ให้ยุบกองทุนฯ โดยมีผล 30 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติออกมา ซึ่งหลังจากยุบกองทุนฯ แล้วให้ปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชี โดยเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือหลังจากการชำระบัญชีให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ชื่นชมรัฐบาลที่ได้ออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นการกำหนดให้ทุกรัฐบาลต่อจากนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ต่อไป แต่ต้องการความชัดเจนระหว่างสิทธิ์ของผู้มีรายได้น้อยในกฎหมายนี้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ออกให้ผู้มีรายได้น้อยก่อนหน้านี้
ด้าน พล.อ.ดนัย มีชูเวท สมาชิก สนช.ที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่จัดสวัสดิการครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณที่มีกฎหมายรองรับ และมีคณะกรรมการฯ ควบคุมดูแลด้วย แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน คือ กระทรวงมหาดไทย ดังนั้นจึงต้องการให้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องทะเบียนราษฎร์ด้วย
จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วยคะแนน 187 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา 23 คน กรอบเวลาการทำงาน 30 วัน แปรญัตติ 7 วัน.-สำนักข่าวไทย