ศูนย์ฯ สิริกิติ์ 7 ก.ย. – รมว.คลังแนะธุรกิจประกันทำแผนแม่บท รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ ต้องใช้ประกันภัยรองรับความเสี่ยง และภัยคุกคามทางไซเบอร์
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัปดาห์ประกันภัยประจำปี 2561 ว่า ต้องการให้ธุรกิจประกันร่วมกันจัดทำแผนแม่บทระยะยาวเหมือนแผนแม่บทของสถาบันการเงิน เพราะธุรกิจประกันมีขนาด 3.9 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 24 ของจีดีพี ขณะที่สถาบันการเงินมีสัดส่วนร้อยละ 100 ตลาดทุนมีสัดส่วนร้อยละ 120 ของจีดีพี ทั้ง 2 สาขาล้วนแต่มีแผนแม่บทพัฒนาไปแล้ว ดังนั้น ภาคธุรกิจประกันจึงมีโอกาสและศักยภาพเติบโตได้อีกมาก และเพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ 3 ล้านล้านบาทในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า และภาคเอกชนที่ต้องลงทุนตามไปด้วยนับล้านล้านบาท
เมื่อเอกชนขยายการลงทุนจึงต้องพึ่งพาระบบประกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงของเอกชน ทำให้ธุรกิจประกันภัยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นตามไปด้วย จึงต้องมีแผนแม่บทรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) และภาคเอกชน ร่วมกันร่างแผนแม่บทและนำไปทดลองใน Sand Box ธุรกิจประกันมีกองทุนรองรับความมั่นคง การจัดตั้งองค์กรรับประกันภัยต่อในประเทศให้ไทยเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อดึงให้เบี้ยประกันหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ไม่ต้องนำส่งประกันภัยต่อไปต่างประเทศ และการร่างแผนแม่บทต้องพิจารณาระยะยาวต้องการก้าวไปในโลกยุคใหม่อย่างไร ทั้งพัฒนาบุคลากรไอที เพราะการซื้อขายประกันออนไลน์เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจประกันของภูมิภาค
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า ในครึ่งปีแรกธุรกิจประกันขยายตัวร้อยละ 4.67 มูลค่า 420,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจประกันชีวิตมูลค่า 380,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ส่วนประกันวินาศภัยขยายตัวร้อย 4.7 มูลค่า 113,000 ล้านบาท มองว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้สูงมาก คปภ.จึงได้แนะนำกุญแจ 4 ข้อ เพื่อช่วยให้ธุรกิจประกันภัยประสบความสำเร็จในยุค Digital Transformation ได้แก่ Agility คือ ต้องสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วและพร้อมจะรุกเมื่อมีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา โดยยกตัวอย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ประกันภัยทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเทศสิงคโปร์กำลังพัฒนา อาจเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองความเสี่ยงให้กับภาคธุรกิจจากการถูกละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาและจะเชื่อมกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้วย
กุญแจตัวที่ 2 Business Model คือ ต้องผนึกความสามารถและความเชี่ยวชาญทางดิจิทัลเข้ากับ Business Model ใหม่ด้านประกันภัย กุญแจตัวที่ 3 Customer Centric และ Customer Experience คือการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลักและต้องปฏิบัติกับลูกค้าด้วยความเป็นธรรม และกุญแจตัวที่ 4 คือ Data ต้องมีข้อมูลของลูกค้าสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และมิติด้านสร้างความพร้อมแก่ธุรกิจประกันภัยในเรื่องความเสี่ยงของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและภัยคุกคามทางไซเบอร์
สำหรับการแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีล่าสุดด้านประกันภัยมีการนำเสนอ Innovative Insurance Product การประกันชีวิตสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน การเปิดศูนย์ Thai Insurance Computer Emergency Response Team (TICERT) ในการบริหารความเสี่ยงด้านประกันภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ การนำเสนอ Big Claim E-Report (BCER) ในรูปแบบของ Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ คปภ. สามารถกำกับติดตามและเร่งรัดบริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์และผู้เสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น งานจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่าง 7-8 ก.ย.นี้ . – สำนักข่าวไทย