กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – กยท.เร่งพัฒนาอาชีพชาวสวนยางพารารายย่อย พร้อมสนับสนุนเงินทุนผู้ประกอบกิจการยางในโครงการไทยนิยมยั่งยืน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ สั่งเร่งเดินหน้าส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.ได้เร่งดำเนินงานตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งได้รับงบประมาณจัดทำ 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยาง โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นเสริม เลี้ยงปศุสัตว์ หรือทำประมง เนื่องจากผลผลิตยางในประเทศมีมาก ขณะที่ต้องประสบปัญหาราคาตกต่ำ อีกทั้งเกษตรกรจำนวนมากปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมได้ผลผลิตต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้น จึงได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 1,500 ล้านบาทมาฝึกอบรมอาชีพให้เกษตรกร 3,113 ราย จากนั้นได้อนุมัติการรังวัดและโค่นยางให้เกษตรกร 14,613 ราย พื้นที่ 92.889 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทน เลี้ยงปศุสัตว์ หรือทำประมงตามที่อบรม โดย กยท.สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาอาชีพเสริมรายละ 16,000 บาทต่อไร่
ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง มีวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท เป้าหมายให้ผู้ประกอบกิจการยางนำยางพาราแผ่นดิบไปแปรรูปเป็นยางแห้ง เพื่อดูดซับยางออกจากระบบประมาณ 350,000 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 8 บริษัท อนุมัติร่วมโครงการแล้ว 4 บริษัท ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารและปริมาณสตอกยาง
สำหรับโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ โดยให้กองทัพ กรมชลประทาน กระทรวงคมนาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น นำน้ำยางข้น 62,131 ตัน และยางแห้ง 363 ตันไปทำถนน สระน้ำ และปูพื้นสนาม หน่วยงานต่าง ๆ ได้รับซื้อยางไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับไปดำเนินการ ซึ่งนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ กรรมการบริหาร กยท.เร่งติดตามผลและดำเนินการให้มีความคืบหน้าในการรับซื้อยางจากหน่วยงานรัฐไปจัดทำสาธารณูปโภคตามแผนงบประมาณ 80 ล้านบาท มีเป้าหมายใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น 145,000 ตัน ระยะเวลาโครงการถึงเดือนธันวาคม 2561.-สำนักข่าวไทย