ขอนแก่น 7 ก.ย. – ก.เกษตรฯ พอใจความก้าวหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน กำชับทุกกรมดำเนินการให้เสร็จภายในปีงบประมาณนี้ พร้อมชูความสำเร็จ “โนนเขวาโมเดล” ต้นแบบแปลงใหญ่ สร้างรายได้มั่นคงแก่เกษตรกร
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) บ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต และเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขัน ผ่านตลาดและการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมเกษตรแปลงใหญ่กว่า 277,127 ราย จำนวน 3,724,607 ไร่
ทั้งนี้ แบ่งเป็น 11 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร เป็นต้น โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา 93 ราย พื้นที่ 370 ไร่ พืชผักที่ปลูกขายมี 9 ชนิด ได้แก่ คะน้าต้น คะน้ายอด กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน คื่นช่าย ผักชีไทย ใบกระเพรา ผักกาดหอม ต้นหอม ซึ่งทั้งเกษตรกรและผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ทุกราย ทุกชนิดพืช และขณะนี้สามารถขยับปริมาณการส่งผลผลิตได้ถึง 13 ตัน/สัปดาห์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,354,528 บาท โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน (มี.ค.61-ปัจจุบัน) จากเดิมส่งได้ 5 – 8 ตัน/สัปดาห์ มูลค่า 172,000 บาท
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดติดตามใช้งบในโครงการไทยนิยมยั่งยืนในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ วงเงิน 24,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เบิกจ่ายไปได้ร้อยละ 30 เหตุที่ช้าเพราะติดขัดงานธุรการ จึงได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงติดตามทุกสัปดาห์ หลังจาก ครม.มีมติขยายเวลาเรื่องงบลงทุนผูกพันถึง 30 กันยายนและดำเนินการต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 2562
นายกฤษฎา กล่าวว่า ในส่วนกรมชลประทาน วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ลงนามสัญญาจ้างไปแล้วร้อยละ 80 ซึ่งเร่งให้สำเร็จตามกรอบงบประมาณ ส่วนกรณีกรมชลประทานใช้งบจ้างแรงงานในพื้นที่ 20,000 คน เบื้องต้นปรากฎว่าไม่ใช่คนผู้มีรายได้น้อยในบัญชีของกระทรวงการคลังนั้น กรมชลฯ แจ้งว่ากระทรวงการคลังส่งรายชื่อมาช้า จึงเกรงเสร็จไม่ทัน จึงไปจ้างคนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ ซึ่ง ครม.อนุมัติให้จ้างได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเน้นให้จ้างจริง ประชาชนในท้องถิ่นได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท ยืนยันจ่ายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เดือนกันยายนนี้ได้เป้าหมายจ้างงานครบ 100 % นอกจากนี้ ได้ย้ำว่าเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่ต้องลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงมาตรการที่กระทรวงเร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยเฉพาะกำลังทยอยเจรจากับเจ้าหนี้เดิมให้ปรับโครงสร้างหนี้สินเกษตรกร ให้สถาบัน หรือธนาคารเจ้าหนี้รับแก้หนี้ ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย แกนนำเกษตรกรจะได้ไม่นำม็อบมาปิดธนาคารต่าง ๆ ใน กทม. ถ้าพื้นที่ไหนปล่อยม็อบมาถือว่าหย่อนยาน
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการชะลอพืชผลเกษตรของสหกรณ์ วงเงิน 1,400 ล้านบาท เบิกจ่าย 80% ส่วนที่มีปัญหาเกี่ยวกับแบบก่อสร้าง เช่น ลานตาก ไซโล หรือเครื่องมือใช้แปรรูปเพิ่มผลผลิตยกเลิกไปบางส่วนโดยเปลี่ยนสหกรณ์ งบ 200 กว่าล้านบาท จะเสร็จทันเดือนธันวาคม เป้าหมายรองรับผลผลิตพืช3 ชนิด 7 แสนตัน เช่น ข้าว ข้าวโพด ยาง
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ในส่วนโครงการฝายชะลอน้ำ 1,000 แห่ง 67 จังหวัด จะขยายถึง 30 กันยายน และโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ลดปลูกยาง เป้าหมาย 150,000 ไร่ ขณะนี้ทำไปได้ 93,000 ไร่ โดย รมว.เกษตรฯ เร่งรัดให้มาพิจารณา แก้ไข ให้ทุกหน่วยงานเข้าช่วยทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรม
ส่วนโครงการพัฒนาฝึกอาชีพ 2.1 ล้านคน ขับเคลื่อนไปได้ 1.8 ล้านคน ให้ความรู้กับเกษตรกร วงเงินลงไปจ่ายไปตามโครงการ 1,600 ล้านบาท ขณะจ่ายไป 1,300 ล้านบาท อบรมอาชีพและอุดหนุนปัจจัยการผลิต ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพใกล้เคียงกับเป้าหมาย เสร็จสิ้นโครงการเกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่.-สำนักข่าวไทย