กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – กรมชลฯ คาดน้ำสูงสุดของแม่น้ำยมจะไหลถึงตัวเมืองสุโขทัยบ่าย 3 โมงเย็นนี้ แต่จากสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับแนวทางบริหารจัดการ มั่นใจไม่เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในตัวเมืองสุโขทัยแน่นอน
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์ลุ่มน้ำยม ว่า ปริมาตรน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านอำเภอเมืองและอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ไปแล้ว โดยไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากปริมาตรน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนั้นได้ไหลต่อมายังอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เวลา 20.00 นงวานนี้ ( 21 ส.ค.) ด้วยอัตรา 757 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่งกว่า 3 เมตร น้ำจากอำเภอศรีสัชนาลัยจะไหลผ่านอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง แล้วเข้าสู่อำเภอเมืองสุโขทัย ประมาณ 15.00-16.00 น. วันนี้ (22 ส.ค.) แต่จากสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับแนวทางบริหารจัดการ โดยผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานและโครงการบางระกำโมเดล มั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งตัวเมืองสุโขทัยแน่นอน
นายทองเปลว กล่าวว่า ได้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมีปริมาตรเพิ่มขึ้น ขณะนี้ระบายท้ายเขื่อนเพชรอยู่ที่ 160-165 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะต้องระบายระดับนี้จนกว่าปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจานจะลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ส่วนแนวทางบริหารจัดการสำคัญ เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเพชรไม่ให้เกินเกณฑ์ควบคุม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ลำน้ำยมไหลผ่านตัวเมืองรับได้สุงสุดจะทำโดยการตัดยอดน้ำก่อนถึงเขื่อนเพชร เพิ่มปริมาณน้ำเข้าคลองส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวารวม 4 สาย จากเดิมผันน้ำเข้า 90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้เปิดขยายทางน้ำให้รับได้เพิ่มถึง 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าคลอง D9 ออกทะเลที่ปึกเตียน อำเภอท่ายาง เพื่อลดปริมาตรน้ำที่จะระบายท้ายเขื่อนเพชร
สำหรับปริมาตรน้ำที่ระบายจากเขื่อนเพชรไปยังอำเภอเมืองเพชรบุรีสูงกว่าเกณฑ์ที่ลำน้ำยมที่ตัวเมืองรับได้อัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เมื่อเวลา 05.00 น.วันนี้มีน้ำล้นตลิ่งเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จุด ส่วนบริเวณที่มีน้ำซึมเข้ามาได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้เพื่อเร่งสูบกลับสู่แม่น้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีเครื่องผลักดันน้ำ 33 เครื่องเป็นระยะๆ ในลำน้ำเพชรบุรีทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อเร่งผลักดันน้ำในจุดที่น้ำไหลช้า ส่วนที่ปลายน้ำมีเรือผลักดันน้ำรวม 26 ลำเร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ เพื่อจำกัดการขยายวงของภาวะน้ำล้นตลิ่งในเมืองเพชรบุรี ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนแลพื้นที่เศรษฐกิจน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย