กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หลังระบาดในจีน ย้ำด่านกักกันสัตว์เข้มงวดระดับสูงสุดในการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า องค์การสุขภาพสัตว์โลก รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 จีนพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง จากข้อมูลการระบาดครั้งนี้ พบมีสุกรตายเฉียบพลัน 47 ตัว จากทั้งหมด 8,116 ตัว คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 0.58 ในฟาร์มสุกร 1 ฟาร์ม เมื่อส่งตัวอย่างยืนยันทางห้องปฏิบัติการที่จีนพบว่าให้ผลบวกต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และภายหลังทราบผลได้ดำเนินการควบคุมโรคตามแผนเตรียมความพร้อมและแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินเมื่อมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับ 2 โดยการทำลายและฝังสุกรร่วมฝูงทั้งหมด ทำลายซากสัตว์หรือเครื่องใน ควบคุมการเคลื่อนย้าย ค้นหาและเฝ้าระวังโรคในสุกรที่เลี้ยงและสุกรป่าในพื้นที่ ส่วนการสอบสวนหาสาเหตุของโรค ยังไม่สามารถสรุปได้อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแม้ไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในจีน ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยมีความเสี่ยงต่อโรคนี้เช่นกัน เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาค รวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนกับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค อย่างไรก็ตาม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ระหว่างประเทศเข้มงวดระดับสูงสุดเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเคลื่อนย้ายสุกรและซาก รวมทั้งการปนเปื้อนของยานพาหนะตามแนวชายแดนที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันโรคเข้าประเทศ และขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในไทย
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมระวังโรคระดับสูงสุด เพื่อรับมือกรณีเกิดโรคดังกล่าว โดยให้ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวินิจฉัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้ รวมทั้งมีการประชุมหารือกับนักวิชาการ มหาวิทยาลัย ผู้แทนเกษตรกร ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติใช้เป็นแผนเตรียมความพร้อมรับมือฉุกเฉินกรณีเกิดการระบาดของโรคอีกด้วย ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์มร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้.-สำนักข่าวไทย