กรุงเทพฯ 20 ส.ค. – สศช.คงเป้าจีดีพีปี 2561 ร้อยละ 4.5 คาดส่งออกโตร้อยละ 10 จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ขณะที่ไตรมาส 2 โตร้อยละ 4.6 ครึ่งปีแรกร้อยละ 4.8
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดจะขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยมีแรงสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดี แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 4.9 ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตภาคเกษตรโดยเฉพาะพืชหลักขยายตัวสูง ขณะที่ภาคนอกเกษตรชะลอลงตามการชะลอตัวของสาขาอุตสาหกรรมและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งชะลอลงสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
สำหรับการส่งออกสินค้าไตรมาส 2 มีมูลค่า 63,014 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 12.3 และเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 8 ไตรมาส ขณะที่ครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยมีมูลค่า 124,803 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 สศช.จึงคาดว่าปี 2561 การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดร้อยละ 8.9 มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ด้านการบริโภคภาคเอกชน ปี 2561 คาดขยายตัว ร้อยละ 4.1 ปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการมีงานทำ และการลงทุนรวม คาดขยายตัวร้อยละ 4.4 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 – 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของจีดีพี สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2561 คาดจะมีจำนวน 38.8 ล้านคน สร้างรายได้ 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับ 2560
ด้านปัจจัยเสี่ยง คือ การผลิตภาคการเกษตรยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างช้า ๆ และมาตรการกีดกันทางการค้าเริ่มทวีความรุนแรงขณะที่ความเสี่ยงของระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง
ขณะที่การบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการติดตามพร้อมดำเนินมาตรการรองรับที่อาจจะเกิดขึ้น สนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ฟื้นฟูภาพลักษณ์เรื่องความปลอดภัย ส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล กระจายรายได้สู่เมืองรอง มุ่งเน้นดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้เป็นไปตามเป้า และเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพ รองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน.- สำนักข่าวไทย