กรุงเทพฯ 9 ส.ค.-หลังเมื่อวานนี้ 4 สมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีได้รับสัญชาติไทย ทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึง “หม่อง ทองดี” ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยจากการแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย เรื่องนี้ติดขัดอย่างไร ติดตามจากทีมข่าวสำนักข่าวไทย
เป็นประเด็นที่สังคมสงสัยเรื่องการขอสัญชาติไทยของนายหม่อง ทองดี หนุ่มวัย 21 ปี ผู้ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย จากการแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2552 นับจากวันนั้นผ่านมาแล้ว 9 ปี นายหม่อง ยังไม่ได้สัญชาติไทย เรื่องนี้ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อธิบายว่า กรณีนายหม่อง ไม่เหมือนกับกรณีของสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมี
แม้ว่า นายหม่อง จะเกิดในประเทศไทย แต่พ่อแม่เป็นต่างด้าว ส่วนสมาชิกทีมหมูป่าแม่เป็นชาวไทยลื้อ เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่แรงงานต่างด้าว และพ่อแม่อยู่ในประเทศไทยเกิน 15 ปี ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เรื่องการอนุมัติหลักเกณฑ์การให้สัญชาติ ส่วน ด.ช.อดุลย์ สมาชิกทีมหมูป่า เป็นเด็กไร้สัญชาติที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง แต่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 10ปี เรียนหนังสือและมีหนังสือรับรองความเป็นบุคคลไร้รากเง้าจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ.เชียงราย
สำหรับ นายหม่อง ทองดี จะได้รับสัญชาติไทยได้จะต้องจบปริญญาตรี ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีหลังจบการศึกษา และอีกกรณีคือ การทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ ซึ่งจะต้องมีหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์จากส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ
ด้านนายหม่อง ทองดี บอกว่า ได้ยื่นขอสัญชาติไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตอนนี้รอหนังสือรับรองจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เคยส่งตนเองเข้าแข่งขับพับเครื่องบินกระดาษ และยินดีกับน้องๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ได้รับสัญชาติ พร้อมตั้งใจว่าหลังได้รับสัญชาติก็จะยังทำหน้าที่สอนเด็กๆ ตามโรงเรียนพับเครื่องบินกระดาน
สำหรับบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยปัจจุบันมีกว่า 480,000 คน มีเด็กที่เกิดในประเทศไทยประมาณ 100,000 คน หากต้องการยื่นขอสัญชาติไทย จะต้องเข้าหลักเกณฑ์การให้สัญชาติ จึงจะได้รับสัญชาติไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย