กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- ประธานที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้ จะดำเนินการส่งตัว “ยิ่งลักษณ์” ต้องพิจารณา 2 ประเด็นหลัก เป็นคดีทางการเมืองหรือไม่ และ มีถิ่นที่อยู่ที่อังกฤษหรือไม่ เชื่อ ไม่เกี่ยวกับอดีต ส.ส.เพื่อไทย ไปพบ ที่อังกฤษ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอนได้ยื่นหนังสือ ขอให้ทางการอังกฤษส่งตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมารับโทษที่ประเทศไทย ว่า สาระสำคัญที่ประเทศคู่สัญญาจะต้องพิจารณา มี 2 ประเด็น คือ เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ เพราะเป็นคดีความที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร และเป็นผลความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเป็นดุลยพินิจของแต่ละประเทศ ไม่สามารถจะวินิจฉัยแทนได้
“แต่ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ต่อสู้ประเด็นคดีความต่างๆ ว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารทั้งสิ้น รวมถึ งการที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ซึ่งต่างประเทศมองเรื่องนี้อยู่พอสมควร จึงเชื่อว่า เป็นมุมมองทางการต่างประเทศจะนำไปพิจารณาได้” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ 2 จะพิจารณาจากหลักถิ่นฐานที่อยู่ โดยกรณีนี้ต้องพิจารณาว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีถิ่นฐานหรือที่พำนักพักพิงอยู่ที่ใด แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้รับวีซ่าให้เดินทางเข้าสหราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีถิ่นฐานที่อยู่ที่นั่นจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป หากไม่มี ประเทศคู่สัญญาก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
เมื่อถามถึง การดำเนินการของรัฐบาลในช่วงนี้มีเหตุมาจากปัจจัยใด นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จากการหาข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาง สืบเนื่องจากรัฐบาลน่าจะทราบถึงถิ่นที่อยู่ที่ชัดเจนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวกับการพบปะ ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อังกฤษ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
“ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า เหตุใดรัฐบาลถึงดำเนินการเรื่องนี้ ให้เป็นข่าวใหญ่โตในขณะนี้ ผมอยู่พรรคเพื่อไทย ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง” นายชูศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ เห็นว่า การที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบปะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อังกฤษ เป็นเรื่องปกติของคนที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน และไม่ได้ผิดกฎหมายตามที่ถูกมอง เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาบอกแล้วว่าไม่ผิด ตราบใดที่บุคคลภายนอกไม่ได้มีคำสั่ง หรือบงการให้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดมายังพรรค ซึ่งการไปพบของอดีต ส.ส. ก็ไม่ปรากฎว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการสั่งการ หรือมติใดๆ มายังพรรคเพื่อไทยด้วย .- สำนักข่าวไทย