ซิดนีย์ 11 ก.ค.- นักจิตวิทยาชาวอเมริกันให้คำแนะนำเรื่องการดูแลอาการเครียดหลังเผชิญเหตุร้ายแรง (PTSD) แก่เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีและโค้ชทั้ง 13 คนที่ได้รับการช่วยเหลืออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนแล้ว
เว็บไซต์เอบีซีนิวส์ของสหรัฐลงบทสัมภาษณ์ ดร.สตีเวน เบอร์โควิตซ์ ประธานร่วมคณะกรรมการด้านการก่อการร้ายและภัยพิบัติ สมาคมจิตวิทยาเด็กและเยาวชนอเมริกันว่า หลังเผชิญเหตุร้ายแรงคนส่วนใหญ่มักเกิดความเครียดที่จะค่อย ๆ บรรเทาลงไปตามเวลา แต่ก็มีส่วนน้อยที่จะทนทุกข์ไปอีกหลายปี อาการส่วนใหญ่ได้แก่ฝันร้าย ภาพในอดีตย้อนกลับมา หลีกเลี่ยงทุกอย่างที่โยงถึงเหตุการณ์ร้ายนั้น มีความรู้สึกลบต่อตนเองและโลก กระวนกระวายใจ โมโหง่าย หรือระแวดระวังเกินเหตุ หากอาการเกิดขึ้นไม่เกินหนึ่งเดือนถือว่าเป็นความผิดปกติด้านความเครียดฉับพลัน แต่หากนานเกินกว่าหนึ่งเดือนถือว่าเป็น PTSD การสังเกตกับอาการนี้กับเด็กและเยาวชนจะต้องดูไประยะหนึ่งเพราะอาจเกิดอาการในภายหลัง ไม่แสดงออกในตอนแรก ดร.เบอร์โควิตซ์ย้ำว่า อย่าทำให้เด็กกลายเป็นคนดังทันทีทันใดเพราะจะรบกวนการฟื้นตัวตามธรรมชาติ
ส่วน ดร.เคนเนธ อาร์ จินส์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์เยาวชน โรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟียแนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงคำพูดประเภท “ลืมไปเสีย มันผ่านไปแล้ว” เพราะจะตอกย้ำให้รู้สึกผิด ไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแต่อย่างใด แต่ควรใช้คำพูดให้กำลังใจ เช่น “จะผ่านพ้นไปได้” “จะอยู่เคียงข้างไปตลอด” “เข้มแข็งมาก”
ด้านสมาคมจิตวิทยาอเมริกันระบุว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะสามารถกลับสู่สภาพจิตใจเดิมได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน หากได้รับคำแนะนำเรื่องการดูแลตนเอง ได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ได้หาเป้าหมายการดำเนินชีวิตและได้มีโอกาสช่วยคนอื่น ที่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากชุมชนโดยเฉพาะเพื่อน ครอบครัว ครู ที่จะต้องได้รับคำแนะนำเรื่องการช่วยลดความเครียดที่ไม่จำเป็นให้แก่เด็กและเยาวชนเหล่านั้น.-สำนักข่าวไทย