กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – พีทีที โกลบอล เคมิคอล จับมือจุฬาฯ สนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในรั้วมหาวิทยาลัยครบวงจร
ตอกย้ำเป็นองค์กรต้นแบบจัดการขยะของประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล
จำกัด (มหาชน)หรือ GC และนายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
BioPBSTM และความร่วมมือส่งเสริมการคัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติก
เพื่อสร้างจิตสำนึกตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่บริษัทให้ความสำคัญและตระหนักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด
ทั้งนี้ บริษัทได้ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจ
เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
โดยได้พัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพด้วยการนำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด
มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBSTM
ทดแทนพลาสติกทั่วไปในบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ โดยประสิทธิภาพในการใช้งานทัดเทียมพลาสติกทั่วไป
แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น การใช้ BioPBSTM เคลือบกระดาษและผลิตเป็นแก้ว
ทำให้แก้วกระดาษทั้งใบสามารถย่อยสลายได้ทุกส่วนและยังคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ
การย่อยสลายตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้ในสภาวะปุ๋ยหมัก
โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงงานหมักอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
สำหรับความร่วมมือในโครงการนี้ GC สนับสนุนจุฬาฯ
ในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม Zero-Waste Cup ซึ่งผลิตจากกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ
BioPBSTM สามารถย่อยสลายในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน นอกจากนี้ ยังร่วมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวจุฬาฯ
และชุมชนรอบข้างเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติก เริ่มจากการคัดแยก การจัดเก็บ
การรีไซเคิล
และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จุฬาตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอยและขยะอันตรายในพื้นที่จุฬาฯ เนื่องจากมีนิสิตและบุคลากรกว่า
40,000 คน
จึงจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายอย่างยั่งยืน หรือ Chula
Zero Waste เพื่อดำเนินการลดปริมาณการเกิดขยะ การคัดแยกขยะ
และการสร้างจิตสำนึกและวินัยให้กับนิสิตและบุคลากร โดยจุฬาฯ ร่วมกับ GC ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัย
โดยนำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่ หรือ BioPBSTM เช่น
แก้ว Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ 100
เปอร์เซ็นต์ มาใช้ในจุฬาฯ โดยปี 2561 มีเป้าหมายเริ่มใช้ในโรงอาหารทั้งหมด
17 แห่ง
ทำให้สามารถลดการใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 170,000 ชิ้นต่อเดือน หรือ 2 ล้านใบต่อปี จุฬาฯ
ได้สร้างระบบการจัดการแก้ว Zero-Waste Cup
อย่างครบวงจร โดยการคัดแยกแก้ว Zero-Waste Cup ที่ใช้งานแล้วนำไปฝังกลบในสภาวะปุ๋ยหมักให้เกิดการย่อยสลาย เพื่อนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน
นับเป็นการบริหารจัดการขยะแบบ Closed-Loop Bioplastic Management ที่แรกในประเทศไทย. – สำนักข่าวไทย