ผู้ตรวจการแผ่นดิน 19 มิ.ย.-7 ชุมชนใน กทม.ร้องผู้ตรวจฯ จี้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีอนุญาตก่อสร้างตึกสูงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตัวแทนชุมชนพญาไท ร้องซ้ำ กทม.เล่นเล่ห์เอื้อเอกชนให้อำนาจ ผอ.เขตอนุมัติก่อสร้างตึกสูงไม่เกิน 8 ชั้นได้โดยไม่ต้องทำอีไอเอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค นำตัวแทน 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนพญาไท ชุมชนมหาดเล็กหลวง 1-2 ชุมชนบ้านเจ้าพระยา ชุมชนสุขุมวิท 28-30 ชุมชนซอยร่วมฤดี ชุมชนถนนส่วนบุคคลราชเทวี ชุมชนอารียา เมโทร ลาดปลาเค้า เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการไม่ปฎิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีอนุมัติอนุญาตให้มีการก่อสร้างตึกสูงทั่วกรุงเทพมหานครโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยนางนฤมล กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างตึกสูงในกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยดั่งเดิมอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบด้านเสียง ฝุ่นละออง น้ำเสีย การจราจรแออัด เช่น ในชุมชนบ้านเจ้าพระยา ระยะร่นและระยะเว้นของทางเดินเท้าไม่เท่ากัน อาคารสูงก่อสร้างมานาน 7 ปียังไม่แล้วเสร็จ ชุมชนพญาไท ซึ่งพื้นที่มีที่ตั้งของหน่วยราชการหลายแห่ง ทำให้เกิดปัญหาข้าราชการเดินทางมาทำงาน คนในพื้นที่ต้องออกไปทำงานด้านนอก การจราจรคับคั่งขับรถกินเลนกันไปมา หรือชุมชนมหาดเล็กหลวง มีการก่อสร้างตึกสูง 52 ชั้น ทั้งที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่มีการสร้างงระบบความปลอดภัยให้กับผู้เดินเท้า เมื่อฝนตกหนักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมระบายไม่ทัน เป็นต้น ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
“มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว มีทั้งหมด 5 ฉบับ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ละเลย ไม่บังคับใช้อย่างเคร่งครัด ทำให้ปัญหาตึกสูงลุกลามไปทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะไม่ก่อสร้างอาคารสูงแค่ 8-10 ชั้นจะไม่ค่อยได้กำไร แต่ถ้ามีการสร้างสูงขึ้นไปอีก 20-30 ชั้น รายได้ที่จะเพิ่มเป็นเท่าทีวีคูณจากหลักร้อยล้านก็จะเป็นพันล้าน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยอมที่จะจ่ายค่าปรับ จ่ายค่าเสียหาย ยอมที่จะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เพราะว่าการจะรื้อถอนในภายหลังก็ทำไม่ได้ง่าย ๆ โดยปัญหาที่ตามมา หลังสร้างเสร็จคือความขัดแย้งระหว่างผู้ที่มาซื้อคอนโด กับคนของชุมชนดั่งเดิม ซึ่งไม่ยุติธรรมที่คน 2 กลุ่มต้องมารับเคราะห์จากการกระทำที่ไม่ถูกต้องของผู้ประกอบธุรกิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ” นางนฤมล กล่าว
นายนรฤิทธิ์ โกมารชุน ตัวแทนชุมชนพญาไท ที่ก่อนหน้านี้เคยนำเรื่องปัญหาการก่อสร้างตึกสูงในพื้นที่มาร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว กล่าวว่า จนถึงวันนี้ ปัญหาในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่กลับเกิดปัญหาใหม่ ซึ่งขอให้ผู้ตรวจฯ ดำเนินการตรวจสอบกรณีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตสามารถอนุมัติให้มีการมีก่อสร้างอาคารที่สูงไม่เกิน 8 ชั้นได้โดยไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ผู้อำนวยการเขตพญาไทได้มีการอนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารโครรงการ SAVVI ARI4 ใน ซ.ชำนาญอักษร ทั้งที่คนในชุมชนได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่าถนนซอยดังกล่าวกว้างไม่ถึง 6 เมตร และยังเป็นซอยตัน แต่ทางผู้อำนวยการเขตฯ ยังอนุญาต และเมื่อมีการร้องเรียนของการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้พักอาศัยใกล้เคียง ทางโครงการฯ ก็เลือกที่จะจ่ายค่าปรับรายวันแทนการหยุดดำเนินการและแก้ไขปัญหาตามที่มีการร้อง
ขณะที่นายสงัด ได้แนะนำให้ผู้ร้องทำคำร้องแยกเป็นการร้องรายกรณี และร้องภาพรวม เนื่องจากเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร ขณะที่รัฐธรรมนูญหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53 และ 58 กำหนดให้รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตประชาชนต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ตรวจฯ ได้รับและพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว หากมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐ ก็จะมีน้ำหนักให้รัฐดำเนินการแก้ไขให้มีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด เพราะหากไม่ดำเนินการ รัฐจะมีความผิด และผู้ร้องก็สามารถใช้รายงานดังกล่าวฟ้องร้องขอให้หน่วยงานรัฐต้องรับผิดชอบแก้ไขด้วย.-สำนักข่าวไทย