โรงแรมแชงกรี-ลา 16 มิ.ย.61- วันนี้มีการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 อย่างเป็นทางการ ซึ่งในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมได้เสนอแผนแม่บทระยะ 5 ปี
จากการประชุม ACMECS ครั้งที่ 8 นี้ ประเทศสมาชิกได้ลงนามเอกสาร 2 ฉบับ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่ง คือ ร่างปฏิญญากรุงเทพ และแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ซึ่งเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค
การประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง ACMECS Summit ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” หรือ Towardsan Integrated and Connected Mekong Communit ได้ปิดฉากลงแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศความร่วมมือกันของ 5 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ที่เห็นสอดคล้องให้มีแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี ตามที่ประเทศไทยเสนอ ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค ที่จะใช้กำหนดแนวทางการดำเนินการระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS เพื่อให้การดำเนินการสอดรับกับแผนแม่บทอาเซียน
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำเร็จของการประชุมว่า การผลักดันให้เกิดแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2562-2566 ภายใต้สโลแกน 3S ได้แก่ การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม จะทำให้เกิดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค โดย 2 ปีแรก จะต้องดำเนินการในโครงการที่ทำได้ทันที แต่ทุกประเทศสมาชิกจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งเงินทุนเข้ามาในกองทุน ACMECS FUND ที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ซึ่งไทยจะสนับสนุนเงินก่อตั้งจำนวนหนึ่งและยังอยู่การพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายการเงินระหว่างประเทศ คาดว่ากองทุนดังกล่าวจะก่อตั้งได้ในปีนี้
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ลงนามเอกสาร 2 ฉบับ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่ง คือ ร่างปฏิญญากรุงเทพ และแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี และสิ่งที่รัฐบาล 5 ประเทศสมาชิกต้องคำนึงร่วมกันคือการลดช่องว่างระหว่างกัน ให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เปิดทางให้ภาคธุรกิจได้เข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย