กรุงเทพฯ 10 มิ.ย.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับหนังสือขออภัยจากสหกรณ์โคนมไทยมิลค์กรณีนมที่จัดส่งโรงเรียนไผทอุดมศึกษามีปัญหาคุณภาพผิดปกติและสั่งการให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพิ่มการคุมเข้มมาตรฐานนมโรงเรียนตลอดกระบวนการผลิตจนถึงมือเด็ก
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ประธานสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ได้ทำหนังสือขออภัยมาถึงตนและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลโครงการนมโรงเรียน รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนที่รับการจัดสรรนมที่ผลิตโดยสหกรณ์ไทยมิลค์ สหกรณ์ได้แสดงความรับผิดชอบโดยการขอเรียกคืนนมกล่องในรอบการผลิตนี้ทั้งหมดคืนและจะแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
นายกฤษฎากล่าวว่า ได้ให้กรมปศุสัตว์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วนแล้วและกำชับให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนปรับมาตรการกำกับดูแลให้มากขึ้นอีกตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การขนส่งและการเก็บรักษา ตลอดจนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้บริโภคนมที่มีคุณภาพและปลอดภัยซึ่งปัจจุบันเด็กระดับอนุบาล 1-ป.6 ทุกคนจะได้ดื่มนมโรงเรียนภาคเรียนละ 100 วันสำหรับวันมาโรงเรียนและอีก 30 วันสำหรับนักเรียนกลับไปดื่มที่บ้านวันปิดภาคเรียน
ทั้งนี้ รักษาการอธิบดีกรมปศสัตว์ได้รายงานว่า จะประชุมคณะอนุกรรมการนมโรงเรียนในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์กระบวนการกำกับดูแลมาตรฐานนมโรงเรียนโดยให้ความสำคัญตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบที่ฟาร์มและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบรวมทั้งโรงงานแปรรูปจนถึงและการส่งมอบให้โรงเรียนโดยต้นทางการผลิตนั้นจะมีการตรวจน้ำนมดิบที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและฟาร์มอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ฟาร์มโคนมจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และตรวจประเมินมาตรฐานฟาร์มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและส่งตัวอย่างน้ำนมดิบในฟาร์มตรวจสอบในห้องปฏิบัติการส่วนกลางทุกเดือน มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปตรวจสอบมาตรฐานเซลล์โซมาติก (SCC) เพื่อคัดกรองไม่ให้นมที่มาจากเต้านมอักเสบปนเข้าสู่การผลิต ที่ระดับไม่เกิน 500,000 เซลล์/ลูกบาศก์เซนติเมตรและตรวจสอบปริมาณของแข็งรวม (Total solid : TS) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 12.25 เพื่อให้มีเนื้อนมที่เข้มข้น ไม่ใสอย่างน้อยภาคเรียนละ 2 ครั้ง โดยโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์มีการรายงานไปยังคณะอนุกรรมการบริหารฯ นมโรงเรียนเพื่อลดสิทธิการจำหน่าย และลงโทษตามหลักเกณฑ์ฯ ส่วนการขนส่งโรงเรียน ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบคุณภาพการขนส่ง มีการควบคุมอุณหภูมิ ดูแลสภาพบรรจุภัณฑ์ไม่ให้ชำรุดและตรวจนับโดยครู-อาจารย์
ส่วนปลายทางจะมีการตรวจสอบที่โรงเรียน โดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) มิลค์บอร์ดกำหนดให้มีคณะกรรมการนมโรงเรียนระดับจังหวัดและอำเภอทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ดูแลคุณภาพนมโรงเรียนในพื้นที่โดยให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ ทั้งนี้ หากพบปัญหาให้ดำเนินการสอบสวนทันทีและให้รายงานผลการดำเนินการทุก 3 เดือนและหากพบปัญหาก็ให้แจ้ง อ.ส.ค.และคณะอนุกรรมการบริหารฯ นมโรงเรียนดำเนินการลดสิทธิ ตัดสิทธิหรือยกเลิกสัญญาผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์นมโรงเรียนที่กำหนดไว้ได้ในทันที
ในด้านการขนส่งซึ่งรับผิดชอบโดยผู้ผลิต นมพาสเจอร์ไรซ์ต้องขนส่งด้วยรถห้องเย็น ไม่เกิน 4 องศา ส่วนนมยูเอชทีด้วยรถขนส่งที่มีตู้หรือหลังคา หรือผ้าใบปิดซ้อนลังไม่เกิน 10 ชั้น ให้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากล่องบุบ ส่วนการเก็บรักษาที่โรงเรียนนมพาสเจอร์ไรส์ให้ใส่ตู้เย็น หรือตู้แช่ เก็บไม่เกิน 8 องศา สำหรับนมยูเอชทีต้องเก็บซ้อนไม่เกิน 8 ชั้น ในกรณีลังซ้อนไม่เกิน 5 ชั้นกรณีห่อฟิล์มวางสูง 10 ซม. จากพื้น และให้เก็บไม่เกิน 45 องศา ทั้งหมดเพื่อรักษาคุณภาพนมและป้องกันนมมีปัญหาก่อนเด็กดื่ม
สำหรับปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในภาพรวม 14,000 ล้านบาท เพื่อให้เด็กไทยได้ดื่มนมรวม 7.45 ล้านคนใน 130 วันนับจากวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนบริหารจัดการเชิงบูรณาการโดย 4 หน่วยงานหลักๆ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ดูแลคุณภาพน้ำนมดิบครบวงจรรวมถึงขั้นตอนการส่งมอบ กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ดูแลผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ควบคุมโรงงานผลิตและการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบการตรวจรับผลิตภัณฑ์และกระทรวงมหาดไทยดูแลงบประมาณไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด
สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการนมโรงเรียนที่จะมีขึ้นจะพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังหาว่า มีข้อผิดพลาดในขั้นตอนใดเพื่อมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมิลค์บอร์ด ส่วนผู้ประกอบการก็จะมีการหารือเพื่อหามาตรการลงโทษตามระเบียบอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การชดเชยจนถึงขั้นตัดสิทธิการจัดสรรโควตาซึ่งขึ้นกับผลการตรวจสอบที่ชัดเจน.-สำนักข่าวไทย