เชียงใหม่ 9 มิ.ย.- รมว.คมนาคมเปิดทางลอดฟ้าฮ่าม และ ขัวสรีเวียงพิงค์ ที่เชียงใหม่ บรรเทาปัญหาการจราจรรอบเมืองเชียงใหม่และพื้นที่คอขวดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิง
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยภายหลังพิธีเปิด ทางลอดฟ้าฮ่าม และ ขัวสรีเวียงพิงค์ ณ บริเวณจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 1001 (สามแยกแม่โจ้) จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานว่า ทางหลวงหมายเลข 11 ตอน อินทร์บุรี-เชียงใหม่ เป็นทางหลวงแผ่นดินสายหลักเชื่อมการคมนาคมระหว่างจังหวัดภาคกลางกับภาคเหนือด้านตะวันออกและภาคเหนือด้านตะวันตก ซึ่งการก่อสร้างเส้นทางสู่ภาคเหนือได้ก่อสร้างช่วงเชียงใหม่-ลำปางเป็นช่วงแรก มีขนาด 2 ช่องจราจร ต่อมาได้รับการขยายให้มีขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ นับเป็นทางหลวงสายหลักในการเดินทางสู่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความสำคัญในการเดินทางของประชาชน ใช้ในการขนส่งสินค้าการเกษตรและสินค้าพื้นเมือง รวมทั้งเป็นเส้นทางในการเดินทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ และถือเป็นถนนวงแหวนรอบในของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางลอดที่บริเวณจุดตัดกับทางหลวงอื่นๆในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่แล้วหลายแห่ง ซึ่งทางลอดฟ้าฮ่ามนี้ถือเป็นทางลอดอีกแห่งหนึ่งที่กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้าง ตั้งอยู่ในบริเวณจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 1001 (สามแยกแม่โจ้) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ใกล้แหล่งชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จึงทำให้ปริมาณการจราจรติดขัดตลอดแนวทุกทิศทาง โดยเฉพาะในเวลาชั่วโมงเร่งด่วน หรือช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้เกิดการสูญเสียเวลาและสิ้นเปลืองทางด้านเศรษฐกิจ
ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรรอบเมืองเชียงใหม่และพื้นที่คอขวดบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิง กรมทางหลวงจึงได้มีการก่อสร้างทางลอดแห่งนี้ รวมทั้ง ขยายและก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง โดยรูปแบบทางลอดและสะพานออกแบบให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เช่น โคมไฟ หอซุ้ม ราวสะพาน รวมถึงลานใต้สะพานเพื่อจัดกิจกรรมของชุมชนในงานประเพณีต่าง ๆ
อธิบดีกรมทางหลวง ยังกล่าวต่อไปอีกว่างานก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข11 กับ ทางหลวงหมายเลข 1001 หรือ ทางลอดฟ้าฮ่าม แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ งานทางลอด ก่อสร้างตามแนวทางหลวงหมายเลข 11 เป็นทางขนาด 6 ช่องจราจร ไป-กลับ ยาว 533 เมตร และ กว้าง 31 เมตร งานก่อสร้างและขยายความกว้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร ความยาว 140 เมตร และ ก่อสร้างสะพานคู่ขนาน ขนาด 2 ช่องจราจร ด้านซ้ายทางและขวาทางของสะพานเดิม ความยาว 160 เมตร รวมงานบันไดเชื่อมต่อทางเท้าสะพาน จำนวน 4 แห่ง และงานก่อสร้างและขยายทางหลวงหมายเลข 11 โดย ขยายช่องจราจรในทางหลัก จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างและขยายทางคู่ขนานอย่างน้อย 3 ช่องจราจร
โดยก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ในวงเงิน ค่าก่อสร้าง 1,172,771,000 บาท (หนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสองล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันบาท)โดยได้รับการเสนอชื่อทางลอดว่า ฟ้าฮ่าม และ ชื่อสะพานข้ามแม่น้ำปิง คือ ขัวสรีเวียงพิงค์ (ขัว-สะ-หรี-เวียง-พิง) เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนผู้ใช้ทางในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง โดยสามารถลดระยะเวลาในการเดินทาง ตลอดจนแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าว ให้ประชาชนมีความสะดวก รวดเร็ว และ ปลอดภัยในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ประปา ไฟฟ้า ได้ร่วมกันปรับทัศนียภาพบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิงให้ดูโดดเด่นคู่เมืองเชียงใหม่อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย